ก.อุตฯ มอบ 4 มาตรการช่วยเหลือ SMEs ของขวัญปีใหม่ 2561

by ThaiQuote, 20 ธันวาคม 2560

มาตรการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำมาช่วยเหลือ SMEs ประกอบด้วย 1)โครงการคูปองเสริมแกร่งธุรกิจ SMEs (SME Coupon) วงเงิน 30,000 บาทต่อราย ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือSMEs 10,000 ราย งบประมาณ 300 ล้านบาท 2)โครงการขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ Digital Value Chain ที่ส่งเสริม SMEs ให้ใช้ช่องทาง E-Commerce เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก 3)โครงการBig Brothers เป็นการนำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มาช่วยยกระดับ SMEs เตรียมความพร้อมรับความต้องการของตลาดโลก และ4)โครงการ Standard Up      เป็นการยกระดับSMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสม พร้อมสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเสริมความสามารถของ SMEs และ Startup โดยทั้ง 4 มาตรการสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2561 ทั้งนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม คือ โครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงท่องเที่ยว (CLMV+) เน้นส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ มาตรฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับหมู่บ้านเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คัดเลือกแล้ว และกระทรวงฯเร่งพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เป็นการส่งเสริม SMEs ให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้ จะขยายบริการศูนย์ITC และเครือข่ายทั่วประเทศ ยกระดับให้เป็นศูนย์บริการอย่างเต็มรูปแบบ และจะเปิดให้บริการทั่วประเทศ 12 แห่ง ภายในเดือนมีนาคม 2561 พร้อมกับได้ขยายบทบาทศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SME Support Center : SSRC) เชื่อมโยงศูนย์บริการ SMEs ให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยกลไกและบริการทั้งหมดผ่านระบบดิจิตอล นอกจากนี้ กระทรวงฯได้เตรียมมาตรการสำหรับดำเนินงานปี 2561 ของหน่วยงานภายใต้สังกัด โดยเน้นนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 (Industry4.0) และประเทศไทย4.0 (Thailand4.0) ตามนโยบายของรัฐบาล คือสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จะการออกใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)เปิดให้บริการด้วยระบบการออกใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) เพื่อลดระยะเวลาการอนุญาต จาก 46 วัน เหลือเพียง 10 วันทำการ ขณะเดียวกันจะเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการพิจารณานำเข้าสินค้าตามมาตรฐานบังคับ ให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชนด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ NSW (National Single Window) ที่ใช้เวลาเพียง 1 วันทำการ และการออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) นำระบบการรับรองเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate) มาให้บริการ ลดระยะเวลาการให้บริการจาก 73 วันทำการ เหลือเพียง 33 วันทำการ และใช้ QR Code แสดงบนใบรับรอง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลการรับรอง ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพิ่มความเชื่อมั่นในสินค้า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะบริการฐานข้อมูลการจดทะเบียน  ชาวไร่อ้อย หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการตรวจสอบการจดทะเบียนชาวไร่อ้อย และอำนวยความสะดวกแก่ชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง สามารถตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนชาวไร่อ้อย และหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยและบริการย้อนหลังได้ ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีโครงการพัฒนาระบบส่วนกลางข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Information Center System : FICs) เพื่อวิเคราะห์และออกแบบระบบส่วนกลางข้อมูล             โรงงานอุตสาหกรรม สร้างระบบฐานข้อมูล ให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกับข้อมูลโรงงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศ ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำโครงการการอนุญาต อนุมัติ นำเข้า-ส่งออก ยุคดิจิทัลด้วย QR Code นำระบบQR Code แสดงบนหนังสืออนุญาตนำเข้าส่งออก เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการพิมพ์หนังสืออนุญาต นำเข้า-ส่งออกได้เอง ไม่ต้องมีลายเซ็นของผู้มีอำนาจลงนามของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้วไปดำเนินการตามพิธีทางการศุลกากรต่อไปได้ เบื้องต้นได้เชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลของกรมศุลกากรแล้ว โดยนำร่องเขตประกอบการเสรี 10 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้   1)นิคมอุตสาหกรรมบางปู 2)นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 3)นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า 4)นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ 5)นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 6)นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 7)นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้              8)นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี 9)นิคมอุตสาหกรรมทีเอสดี และ 10)นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี นอกจากนี้กระทรวงฯยังได้ประสานขอความร่วมมือสถานประกอบการเหมืองแร่ทั่วประเทศ ดำเนินการจัดกิจกรรม สัปดาห์ “เหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน” โดยจัดให้มีกิจกรรมตรวจสุขภาพหรือกิจกรรมออกกำลังกาย ให้กับประชาชนโดยรอบ สถานประกอบการ ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 26 เดือนมกราคม 2561 นี้

Tag :