5 แหล่งท่องเที่ยวโครงการหลวง

by ThaiQuote, 29 ธันวาคม 2560

1.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ใน อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ที่มาของโครงการชั่งหัวมันนั้น เกิดจาก ชาวบ้านในพื้นที่ ได้นำมันเทศมาถวายแด่ในหลวงที่พระราชวังไกลกังวล ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งให้ข้าราชบริพารนำไปเก็บไว้ที่ตราชั่งในห้องทรงงาน ก่อนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯในเดือนต่อมาพระองค์ท่านเสด็จกลับมาประทับ ที่หัวหิน ทรงพบว่ามันเทศดังกล่าวเกิดแตกใบออกมา จึงมีพระราชดำริให้รีบจัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจำนวนกว่า 250 ไร่ ใจกลางหุบเขาในเขตบ้านหนองคอไก่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีเพื่อพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งนี้ ให้เป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งของโครงการนี้ได้ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษาดูงาน นับเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่แท้จริงรวมถึงเป็นพื้นที่ให้ศึกษาดูงานสำหรับ ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา มาได้เป็นครอบครัวหรือหมู่คณะ  โดยได้มีรถรงพานำชมทั่วไร่พร้อมวิทยากรบรรยายตามแต่ละจุด เปิดให้ชมตั้งแต่ 08.30 น. – 18. 00 น. นอกจากนี้ยังมีบริการจักรยานรองรับผู้เข้าชมและห้องชมวีดิทัศน์ของโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ  ภายในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริจัดเตรียมไว้ สำหรับให้ความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงมีจักรยานให้ปั่นรอบโครงการ ซึ่งโครงการฯได้ขอความร่วมมือเก็บค่าบริการเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ ( อายุ 15 ปีขึ้นไป ) ท่านละ 20 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบคนละ 10 บาท ส่วน พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี นักบวช ผู้พิการ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ได้รับการยกเว้นค่าบริการ   หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-3247-2700-1   2.โครงการอัมพวา-ชัยพัฒนานุรักษ์ จ.สมุทรสงคราม เริ่มต้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งนางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 พระราชดำริในการจัดตั้งโครงการอัมพวา-ชัยพัฒนานุรักษ์เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวาทั้งในด้านกายภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในพื้นที่และชุมชน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาชีพ และประกอบกิจกรรมภายในพื้นที่ พัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อมโยงกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศน์ของสวนผลไม้ และแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชนจากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยสร้างโอกาสให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยสถานที่ซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เหมาะสำหรับ วันหยุดสำหรับคนที่มีเวลาไม่มากนัก เพราะสามารถแวะมาพักผ่อนหย่อนท่ามกลางธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรม พื้นถิ่นของชาวอัมพวาได้อย่างง่ายๆ นอกจากนี้ยังสามารถซื้อของฝาก ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา กลับไปฝากคนที่บ้านได้ด้วย   3.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในอำเภอพนมสารคาม ถือเป็นปฐมบทของศูนย์ศึกษาพัฒนาแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของการพลิกฟื้นผืนดิน ที่ได้จากการศึกษา ทดลอง ทดสอบ และวิจัยขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นว่าควรจะมีพื้นที่แสดงองค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ แบบครบวงจร ให้เกษตรกรไทยได้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ซึ่งศูนย์ศึกษาฯ นี้ เปิดต้อนรับคนทุกระดับ นักท่องเที่ยว ประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ที่สนใจต้องการศึกษาดูงานด้านการพัฒนาในด้านต่างๆ และได้เที่ยวชมสวนรุกขชาติแบบได้ความรู้ติดตัวไปด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในตำบลเขาหินซ้อน ริมทางหลวงเส้นฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี (304) ช่วง กม.51-52 ห่างจากตัวอำเภอพนมสารคามมาประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับการเที่ยวชมศูนย์ศึกษาฯ จะต้องขับรถเข้าไปในจุดต่างๆ หรือหากมาเป็นหมู่คณะ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีรถรางพานำชม พร้อมด้วยวิทยากรบรรยายส่วนต่างๆ ภายในศูนย์ศึกษาฯ​ ให้เข้าใจยิ่งขึ้น บริเวณด้านหน้าศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน จะมีแผนที่ขนาดใหญ่ ที่ให้เห็นพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ ทั้งหมด และแบ่งเป็นจุดที่น่าสนใจใหญ่ๆ ทั้งหมด 9 จุด หรือที่เรียกว่า "9 มหามงคล" ประกอบด้วย1. โพศรีมหาโพธิเป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ที่มีอายุกว่า 36 ปี 2. ห้วยเจ็ก 2.ห้วยเจ็กเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณตรงกลางของศูนย์ศึกษาฯ 3. สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อนเป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ป่าไม้หายาก 4. ศาลาเทิดพระเกียรติเป็นศาลาสำหรับทรงงาน และเป็นที่ตั้งโมเดลของศูนย์ฯ 5. พระตำหนักสามจั่วเป็นศาลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 6. พลับพลาพระรามพลับพลาพระราม เป็นอาคารรับเสด็จ ที่ประทับแรม และอาคารทรงงาน 7. โรงสีข้าวพระราชทานเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่ใช้ภายในศูนย์ศึกษาฯ​ 8. หญ้าแฝกถือเป็นพืชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษา และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของหญ้าแฝกที่ใช้กับการเกษตร 9. ทฤษฎีใหม่เป็นการชี้แนะแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน   4.โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ   ด้วยสภาพที่คดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณรอบพื้นที่เขตบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร การระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จึงเป็น ไปได้ช้า จนไม่ทันช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาคลองลัดโพธิ์ให้กลายเป็นทางระบายน้ำ ที่สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ทันทีที่น้ำท่วมขังตัวเมืองในสองฝั่งน้ำ และปิดประตูระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ทั้งยังมีการทดลองติดตั้งกังหันทดน้ำแบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นต้นแบบไปสู่การการผลิตกระแสไฟฟ้าตามประตูระบายน้ำแห่งอื่นต่อไป ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์รวมไปถึงโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอย่าง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องน้ำท่วมและการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวันนี้นอกจากโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาน้ำเอ่อล้นสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครแล้ว ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งใหม่ของอำเภอพระประแดง   5.พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวองค์ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในสนุกและเพลิดเพลินไปกับสื่อและเทคโนโลยีการนำเสนอข้อมูลที่ทันสมัย เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยทำหน้าที่เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยกับความสัมพันธ์ในด้านการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังเป็นแหล่งความรู้โครงการพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องฉายภาพยนตร์สามมิติ หุ่นจำลอง ฉากจำลอง มัลติมีเดียหลากหลายรูปแบบ
Tag :