ทะยาน! พัฒนาอุตฯ การบินรับโมเดล “ 4.0”

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2561

​       จากการที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์โมเดล “ประเทศไทย 4.0” กำหนดให้อุตสาหกรรมการบิน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ศึกษาและวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานด้านนโยบาย กฎระเบียบ รวมทั้งจัดทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวเห็นความสำคัญกับผลการศึกษาที่ต้องการให้รัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงในสามประเด็นสำคัญเพื่อวางแนวทางการพัฒนา ด้านการบินระดับประเทศ ประเด็นแรกคือการริเริ่มและพัฒนานโยบายและมาตรการด้านการบินที่สนับสนุน การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน ประเด็นต่อมาคือการเพิ่มประสิทธิผลขององค์กรหรือหน่วยงาน โดยการปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับให้มีความซับซ้อนน้อยลง มีความชัดเจนและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินผ่านทางสิทธิประโยชน์ แรงจูงใจ และโครงการสนับสนุน ทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวมภายในประเทศ ด้าน นายราเมช ตันจะวูรู ที่ปรึกษาจากฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกหันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคนี้ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศโดยปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศไทยมุ่งเน้นที่การซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวกว้างเป็นหลัก แต่ยังขาดแคลนผู้ประกอบการซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวแคบ ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยานที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบล้อและเบรก (Wheels & Brakes) หน่วยสำรองกำลัง (Auxiliary Power Unit) อุปกรณ์ระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน (IFE) เชื้อเพลิงและตัวควบคุมเครื่องยนต์ (Engine Fuel & Control) รวมถึงระบบล้อลงจอด (Landing Gear) เป็นต้น ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีรายได้สะสมจากอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานราว 14,500 ถึง 23,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้สะสมจากอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจะมีมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยจะสามารถ สร้างงานได้มากถึง 24,200 อัตรา เมื่อพิจารณาการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน พบว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน (OEM) ภายในประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตในขั้นที่ 3 (Tier 3) และขั้นที่ 4 (Tier 4) ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตในขั้นที่ 2 (Tier 2) ยังมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจในการจ้างผลิตอีกด้วย การสัมมนาครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ต่อแผนการดำเนินงานด้านนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการเพื่อกำหนดปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย จากนั้นจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงมาตรการต่างๆก่อนที่จะผลักดันไปสู่หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

Tag :