“ธนาคารปูม้า” รัฐหนุนชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง

by ThaiQuote, 10 มีนาคม 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ว่า ผลสำเร็จส่วนหนึ่งจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ตามภารกิจ ครม.สัญจรนั้น รัฐบาลได้ร่วมหารือกับภาคเอกชน เห็นชอบหลักการในโครงการเพาะพันธุ์ปูทะเล ซึ่งจะประกอบไปด้วยการสร้างโรงเพาะเลี้ยงปูทะเล บ่อเลี้ยงแพลงตอน เพื่อจะขยายผลของธนาคารปูม้าที่ดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าโครงการธนาคารปูม้า ณ ชุมชนแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีนั้นสามารถจะช่วยคืนปูม้าสู่ทะเลไทยได้ เป็นผลความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบการวิจัยและหลักวิชาการ เพื่อจะทำให้สามารถแก้ปัญหาปริมาณปูม้าที่ลดลงในท้องทะเล เนื่องจากจับปูม้าที่มีไข่ สำหรับโครงการนี้ได้นำเอาปูม้าไข่ที่จับได้ มาฟักในระยะสั้นแล้วปล่อยลูกปูม้าลงสู่ทะเล เป็นการเพิ่มปริมาณปูม้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นและเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล โดยแต่เดิมนั้นเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มชาวประมง ใช้วิธีการง่ายๆ โดยนำแม่ปูม้าไข่ที่จับจากทะเลมาเขี่ยไข่แล้วปล่อยคืนสู่ทะเล เป็นการเพิ่มจำนวนปูม้าในทะเลด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ในขณะที่ปัจจุบัน เมื่อมีการวิจัยพัฒนาวิธีเพิ่มอัตราการรอดของการฟักตัวไข่ปูม้าก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ทำให้อัตราการรอดของปูม้าสูงมากขึ้น จากเดิมได้เพียงแค่ 1 % เท่านั้นเอง ปัจจุบัน ธนาคารปูม้าได้มีการดำเนินการแล้วที่จังหวัดสงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานีประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ตนได้สั่งการและมอบนโยบาย ให้ขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนรอบอ่าวไทยและฝั่งอันดามันทั่วประเทศ โดยเน้นเรื่องความร่วมมือของชุมชน และใช้การวิจัยเพื่อความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขยายผลการพัฒนาธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในทุกอำเภอ ทุกชุมชนชายฝั่ง โดยให้ทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อจะเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้า วิจัยแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกปูม้าวัยอ่อน วิจัยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล วิจัยเรื่องการขนย้ายลูกปูม้าลงทะเล เป็นต้น ซึ่งตนคิดว่าปูม้าเป็นสินค้าที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด เพราะประชาชนนิยมบริโภค 2. กรมประมง ออกมาตรการส่งเสริมการฝากแม่ปูม้าไข่นอกกระดองกับธนาคารปูม้า และการส่งเสริมให้ปูม้าไทยสู่ตลาดโลก มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้ชัดเจน 3. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความเห็นชอบพื้นที่ที่จะใช้มาตรการการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4.ธนาคารออมสิน สนับสนุนเงินทุน สินเชื่อ ให้ชุมชนเพื่อเริ่มทำและดำเนินการธนาคารปูม้าและการอนุบาลลูกปูม้าชายฝั่ง ชุมชนละประมาณ 150,000 – 200,000 บาท เพื่อจะเป็นเงินทุนในการจัดระบบธนาคารปูม้าการสนับสนุนโรงเรือนและเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินการ 5. บริษัทประชารัฐรักสามัคคีในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ช่วยสนับสนุนด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ 6. บริษัทไปรษณีย์ไทย นำปูม้าจากชุมชนที่มีธนาคารปูม้าไปเป็นสินค้าแนะนำที่สามารถซื้อขายได้ 7. กระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ เพื่อขยายผลธนาคารปูม้าไปทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าชุมชนปล่อยไข่ปูม้าจากแม่ปูม้าได้เดือนละ 100 ตัว จะมีลูกปูม้าเพิ่มขึ้น 0.1 – 1 ล้านตัว ทุกชุมชน ทุกเดือน จะทำให้มีรายได้จากการขายปูม้า 2.5 ล้านบาท ต่อชุมชน ต่อเดือน และถ้าส่งเสริม 1,000 ชุมชน จะมีมูลค่าถึง 2,500 ล้านบาท ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่น เมื่อผนวกเข้ากับกลไก “ประชารัฐ” ในระดับชาติ ผลสำเร็จย่อมขยายวงกว้าง หากแต่ว่าภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ถูกทิศทาง ต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการของแต่ละหน่วยงาน ข้อสำคัญคือประชาชนนั้น จะต้องขยันหมั่นเพียร ต้องมีความรอบรู้ที่เพียงพอ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ร่วมกับรวมประสบการณ์ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของคนรุ่นเก่า จึงจะเกิดเป็นมูลค่าขึ้นมา รัฐบาลไม่ได้ต้องการสนับสนุนโครงการ โดยแจกจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว โครงการที่สร้างก็จะไม่เกิด แต่หากเป็นโครงการที่ประชาชนต้องการ ประชาชนดำเนินการเอง รัฐร่วมเข้าไปช่วยส่งเสริม อย่างนี้จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องทำและติดตามการบริหารจัดการต่อไป
Tag :