เห็นชอบ ร่างกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ กระชับ ชัดเจน

by ThaiQuote, 3 เมษายน 2561

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้กำหนดนโยบายของรัฐชัดเจน ในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ  หากเข้าข่ายการลงทุนแบบดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)  โดยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน  มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง  กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนอย่างกระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ เพราะได้นำหลักเกณฑ์ของ นำแนวทาง PPP Fast Track ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาบรรจุเป็นกฎหมายหลัก จึงทำให้ทุกหน่วยงานศึกษาการเริ่มต้นโครงการไปพร้อมกัน จึงทำให้ลดระยะเวลาขั้นตอนศึกษาไปจนถึงการลงนามก่อสร้างจาก 25 เดือนลดเหลือเพียง 9 เดือน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนมากขึ้น   นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ( สคร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบPPP Fast Track ที่ใช้อยู่เป็นการดำเนินการมติ ครม. เมื่อเห็นว่ามีประสิทธิภาพ เร่งรัดโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงนำมาบรรจุอยู่ในกฎหมายแม่ เพื่อให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่สานต่อเดินหน้าได้ และยังให้อำนาจคณะกรรมการ PPP กำหนดแนวทาง Fast Track ได้เพิ่มเติม เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา ปัจจุบันโครงการ PPP Fast Track ที่ดำเนินการไปแล้ว 5 โครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู ตั้งแต่เริ่มตั้งโครงการ คืบหน้าไปจนถึงการลงนามก่อสร้างใช้เวลา 9 เดือน และยังมีอยู่อีก 11 โครงการลงทุน อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการ  รวมทั้งยังได้กำหนดประเภทกิจการที่ต้องเข้าสู่กฎหมายร่วมลงทุน 12 กิจการ เช่น การสร้างถนน มอเตอร์เวย์ ทางหลวง กิจการรถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน พลังงาน โทรคมนาคม โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์ประชุม ที่อยู่อาศัย วิทยาศาสตร์ 4.0  โดยจะมีคณะกรรมการจาก 4 หน่วยงาน คือ คลัง สำนักงบประมาณ สนบ. สศช. พิจารณาโครงการเข้าแผนร่วมลงทุน   สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญดังนี้  1. “Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น  
  1. “Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน
 
  1. “Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้ 4. “Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ.
Tag :