ถอดรหัส 4 ปี คสช. แก้ปัญหา รวยกระจุก-จนกระจาย

by ThaiQuote, 31 พฤษภาคม 2561

ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามที่จะทำให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส หรือกลุ่มฐานราก ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลากหลายแนวทาง เช่นที่ผ่านมา มีการใช้วิธีอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง ผ่านโครงการที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย (มีผลด้านฐานเสียงการเมือง) ซึ่งเรียกว่านโยบายประชานิยม แต่ผลเสียคือ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลสำฤทธิ์ที่ยั่งยืน หรือต้องใส่เงินเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้สะดุด และบ่อยครั้งเกิดการทุจริตหรือรั่วไหลระหว่างกระบวนการ เช่นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งต้องใส่เงินเข้าไปตามปริมาณข้าวที่รับซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันใช้วิธีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยผูกโยงปัญหาทั้งหมดแล้วแก้ปัญหาด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เรียกว่า National e-Payment โดยยึดโยงกับโครงการ e-Payment ของภาครัฐ ที่ต้องการทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐตรวจสอบได้ ป้องกันปัญหาการทุจริต เข้าใจง่ายๆ คือ รัฐอัดฉีดเงินเข้าไปในเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ มีการกำหนดวงเงินและเป้าหมายชัดเจน ซึ่งนอกจากจะป้องกันปัญหาการทุจริตแล้ว ยังสามารถบูรณาการข้อมูล มาวิเคราะห์ผลสำเร็จของโครงการ เพื่อต่อยอดโครงการใหม่ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น โดยสอดแทรกปรัชญาที่ว่า การช่วยเหลือที่ยั่งยืน คือต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้โครงการสำคัญที่อยู่ในโครงสร้างดังกล่าว คือ โครงการการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 2560 เฟส 1 มีผู้ได้รับสิทธกว่า 11.4 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลได้อุดหนุนเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น (รายละเอียดตามภาพ) เป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 2560 เฟส 2 ซึ่งกำลังดำเนินการแล้ว เป็นการต่อยอดจากเฟส 1 มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้พ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน มีรูปแบบคือ 1.นำข้อมูลที่ได้จากเฟส 1 มาวิเคราะห์ความต้องการหรือแนวทางความช่วยเหลือตรงตามความเหมาะสม 2.มีการติดตามผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีทุกคนที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อหาวิธีทำให้สามารถมีรายได้เพิ่มเพียงพอต่อการดำรงชีพ และให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพอย่างสมัครใจ 3.ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจน ทำโครงการรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรฯ รวม 6 กระทรวง 3 ธนาคารรัฐ 2 กองทุน และ 2 หน่วยงาน สำหรับโครงการในเฟส 2 จะเน้นช่วยเหลือใน 4 มิติ คือ การมีงานทำ การฝึกอบรมอาชีพ และการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และถ้าเข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นที่การใช้ชีวิต เช่นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การออม เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” คงไม่สามารถดำเนินการโดยอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ในหลากหลายมิติไปพร้อมๆกัน ทั้งเรื่องความต้องการพื้นฐาน การเปิดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ การศึกษา เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ฯลฯ วันนี้เข้าใจว่าเศรษฐกิจปากท้องเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่อย่าเอามาปนกับการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะการอัดเงินเข้าไปชั่วครั้งคราว มันไม่ได้ทำให้คนรวยขึ้นมาทันทีทันใดหรอก ต้องยอมรับความจริงและลงมือแก้ปัญหาระยะยาวกันจริงๆเสียที   บทความโดย ขุนข้างคลัง
Tag :