ล้างเมคอัพไม่เกลี้ยง เสี่ยงเปลือกตาอักเสบ

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2561

พญ.ภาวิกา ธรรมโน จักษุแพทย์จาก TRSC ศูนย์เลสิคนานาชาติ กล่าวว่าเปลือกตาอักเสบ เป็นการอักเสบของผิวหนังบริเวณเปลือกตา หนังตา หรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น ขนตา, ต่อมรอบโคนขนตา, ต่อมสร้างไขมันที่ขอบเปลือกตา ซึ่งเรียกว่า "ต่อมไมโบเมียน" ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างไขมัน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตา ช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยเร็ว สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย และมักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุที่ทำให้เปลือกตาอักเสบมีหลายปัจจัย อาทิ - มีสิ่งสกปรกอยู่บริเวณเปลือกตา เช่น ผงฝุ่นละออง การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา การเขียนขอบตา ติดขนตาปลอม การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ - เกิดจากโรคทางร่างกาย เช่น โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม โรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตนเอง - โรคต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ - ติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสที่ผิวหนัง - การได้รับยาบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ฯลฯ   อาการอย่างไร ถึงเข้าข่ายเป็นเปลือกตาอักเสบ ?
  1. ชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบในคนที่มีอายุน้อย อาการคือ มีเปลือกตาแดง เยื่อบุตาแดง คันตา แสบตา ตาแห้ง มีน้ำตาไหล มีอาการระคายเคืองตา ตามัว เปลือกตาบวม มีสะเก็ดรอบขนตา มีขนตาร่วง บางรายอาจเป็นแผลถลอกที่เปลือกตา อาการเหล่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ
  2. ชนิดที่เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่เปลือกตา มักพบในวัยกลางคน และผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม อาการจะคล้ายๆ กับข้อ 1 แต่อาจจะมีอาการน้อยกว่า และมักเป็นในผู้ที่มีผิวหน้ามัน
  นอกจากนี้ อาการที่แสดงว่าอาจมีปัญหาของโรคเปลือกตาอักเสบได้ หากมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ อาทิ ตากุ้งยิง มีตุ่มคล้ายสิวที่เปลือกตา มีคราบขี้ตา หรือสะเก็ดที่ขนตา ก็เป็นได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อีก อาจทำให้ขนตาร่วง ขนตาผิดรูป ขึ้นคนละทิศละทาง ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ปลายขนตาอาจไปโดนกระจกตา แล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เกิดกระจกตาอักเสบเป็นแผลได้   วิธีการรักษาเปลือกตาอักเสบทำอย่างไร ?
  1. ทำความสะอาดเปลือกตา และรอบเปลือกตา ล้างมือให้สะอาด แล้วใช้ไม้พันสำลี หรือสำลีแผ่น ชุบน้ำอุ่นๆ หมาดๆ หรือชุบผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ แล้วเช็ดเบาๆ บริเวณเปลือกตา และขอบเปลือกตาเบาๆ ประมาณ 30 วินาที และล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยทำความสะอาดวันละ 2 – 4 ครั้ง (หากอาการดีขึ้น ให้ลดลงเหลือวันละ 1-2 ครั้ง) และควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตาทุกชนิดจนกว่าโรคจะหาย
  2. ประคบอุ่นที่เปลือกตา ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ถุงน้ำร้อน หรือถุงเจลประคบร้อน ที่มีอุณหภูมิที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความอุ่นกำลังดี หลับตาแล้วประคบอุ่นลงไปบนเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง นาน 5 – 15 นาที หากหายร้อนแล้ว ก็นำอุปกรณ์ทำให้อุ่นใหม่อีกครั้ง เพื่อประคบให้ได้เวลาที่กำหนด โดยประคบวันละ 1 - 2 ครั้ง ความอุ่นนี้จะช่วยทำให้ไขมันอ่อนตัวลง และไม่อุดตันที่รูเปิดของต่อมไขมัน และช่วยให้การอักเสบลดลง
  3. นวดเปลือกตา หลังจากประคบอุ่นที่เปลือกตา ให้ใช้นิ้วนวดที่เปลือกตา การนวดเปลือกตาบนให้กดจากบนลงล่าง ส่วนเปลือกตาล่างให้นวดโดยกดจากล่างขึ้นบน การนวดลักษณะนี้จะทำให้ไขมันที่อุดตันอยู่ที่ต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตาระบายออกมา
  4. พบแพทย์ หากอาการยังไม่ดีขึ้น หลังดูแลตนเองเบื้องต้นทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้ว ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรักษาอาการให้ทันท่วงที โดยแพทย์อาจจะสั่งยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตา ป้ายตา หรือรับประทาน บางรายอาจต้องผ่าตัด หรือรักษาด้วยวิธีอื่นตามอาการต่อไป
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ ซึ่งเปลือกตาเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ดวงตาที่สุด จึงเป็นอวัยวะที่สำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นหากมีสิ่งผิดปกติ ควรรีบมาพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัย สบายใจ ไร้กังวล อีกด้วยค่ะ