บิ๊กตู่ ลั่น! ปลดล็อก ต้องให้คสช.พิจารณา

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2561

วันนี้(12 มิ.ย.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ภายหลังการประชุม ครม.สัญจร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือ กับ พรรคการเมืองในเดือน มิ.ย.ว่า เพื่อพิจารณา ปลดล็อก คำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว จะเข้าร่วมหารือด้วยตัวเองหรือไม่นั้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เรื่องการหารือเดี๋ยวก็หารือกัน ใครทำก็ได้ ผมทำก็ได้ หรือจะให้รองนายกฯ ทำก็ได้ ถือเป็นเรื่องของขั้นตอน ก็ขอรับฟังก่อนได้หรือไม่ แล้วค่อยนำเรื่องมาให้ผม และ คสช.ได้ตัดสินใจพิจารณาในเรื่องของการปลดล็อก และ วิธีการต่างๆ ก็จะทำให้ทุกอย่าง ขอร้องว่าอย่ากดดันกันมากๆ เลย ขอตอบแค่นี้พอ เดี๋ยวจะต้องไปทำงานต่อ ก็ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย" นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า การหารือ ในเบื้องต้น เป็นระดับสำนักงานฯ โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.กับ รองเลขาฯด้านต่างๆ จะไปร่วมหารือ กับ ประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหา ต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง  เช่น การหาสมาชิก การที่พรรคไม่สามารถจัดประชุมได้ ซึ่งกกต.เคยเสนอความเห็นไปแล้ว และยืนยันว่าควรแก้ไข เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติได้ แต่ที่สุดแล้วหลังการหารือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ รวมถึงจะนำไปสู่การทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากที่ได้ให้สำนักงานฯศึกษาข้อกฎหมายเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายมีผลบังคับนั้น เห็นว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ ดังนั้นการให้คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อให้กกต.แบ่งเขตได้ก่อน อาจเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้เลขาธิการกกต.เคยเสนอมาแล้ว แต่ทั้งนี้แม้กกต.จะแบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องปลดล็อกจากคสช.ก่อน ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองก็ไม่สามารถมาประชุมได้ ซึ่งคสช.ก็เคยระบุแล้วว่าอาจปลดล็อกให้พรรคการเมืองกระทำการบางเรื่อง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ กรธ. ส่งตัวแทนไปร่วมพูดคุยในการหารือระหว่างรัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในวันที่ 14 มิถุนายน เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนความเป็นไปได้ในการงดใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก แล้วจะยังทำให้การเลือกตั้งยังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น นายมีชัย ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ และไม่มีความเห็นต่อข้อเสนอที่ให้ คสช. ใช้มาตรา 44 งดใช้ระบบไพรมารีโหวต พร้อมกันนี้ นายมีชัย ได้ชี้แจงกรอบการเลือกตั้ง 150 วันหลังร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้วว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของ กกต. และ พรรคการเมือง จะต้องดำเนินการในช่วงเวลานี้ ทั้งการแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต. ,การจัดทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง รวมถึงการหาเสียง โดยแนะนำให้ กกต. รีบจัดทำบรรดาระเบียบ คำสั่ง และประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแบ่งเขตเลือกตั้ง ในช่วง 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนที่จะมีกฎหมายใช้บังคับ ส่วนการจัดทำไพรมารีโหวต ของ พรรคการเมือง ก็สามารถใช้เขตจังหวัด จัดประชุมเพื่อสรรหาตัวบุคคลลงเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ในการประชุมคราวเดียวกันได้ ดังนั้น กรณีที่มีผู้ให้รีบจัดการเลือกตั้งนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องด้วย พร้อมย้ำถึงกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญว่า หมายถึงการจัดการเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 150 วัน โดยไม่นับรวมการประกาศผลคะแนน เพราะการประกาศผลคะแนนตามรัฐธรรมนูญ ได้เผื่อเวลาการคำนวณไว้ให้ 60 วันหลังจากนั้น
Tag :