“ คน- มัน- โค ” แก้ราคา มัน ด้วยพลังประชารัฐ

by ThaiQuote, 20 มิถุนายน 2561

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จ.มหาสารคาม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญคือโคเนื้อ และโคนม สำหรับข้าว , อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว แต่มันสำปะหลังยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลทำให้สุดท้ายประโยชน์ตกเป็นของพ่อค้าลานมันและโรงแป้ง

      

ด้วยเหตุนี้สภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคามซึ่งมีการรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรอยู่ โดยมีกลุ่มองค์กรที่ผลิตมันสำปะหลัง 8 องค์กร จาก 3 อำเภอ ได้ปรึกษาศึกษาค้นคว้าหาทิศทางในการที่จะพัฒนามันสำปะหลัง จนได้ข้อสรุปว่าหากจะปลูกมันสำปะหลังแล้วขายหัวมันสดไม่มีทางจะแก้ปัญหาความยากจนได้ยังไงก็ขาดทุน

    

ขณะที่จังหวัดมหาสารคามมีสหกรณ์โคนม 2 แห่ง คือ สหกรณ์โคนมมหาสารคาม จำกัด และสหกรณ์โคนมโคกก่อ จำกัด ทั้ง 2 แห่งซื้อมันเส้นหรือมันสำปะหลังตากแห้งจากพื้นที่อื่นและต่างประเทศ จึงได้เชิญตัวแทนจากทั้ง 2 สหกรณ์ และเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังร่วมพูดคุยและตกลงกันว่าสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง จะซื้อผลผลิตมันเส้นตากแห้งจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัด

    

“ช่วงแรกเกษตรกรใช้วิธีขุดหัวมันมาสับแล้วตาก สหกรณ์โคนมทั้ง 2 แห่งเห็นว่าเป็นมันคุณภาพดีจึงตกลงซื้อ แต่เมื่อซื้อปริมาณมากๆ เกรงว่ากลุ่มเกษตรกรจะทำในปริมาณที่สหกรณ์ต้องการไม่ได้ จึงมีเงื่อนไขว่าจะซื้อมันจากองค์กรเกษตรกร,กลุ่มเกษตรกรเท่านั้นไม่ซื้อจากเกษตรกรรายย่อยหรือรายบุคคลด้วยเกรงเรื่องการควบคุมมาตรฐานและปริมาณการผลิต ทั้ง 8 องค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาเกษตรกรจึงได้เชื่อมโยงโดยได้จัดคู่ค้าให้เพื่อป้องกันไม่ให้แย่งตลาดกัน  และเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสักขีพยานในการทำข้อตกลงพร้อมประกาศเป็นนโยบายว่า อยากเห็นโคมหาสารคามกินมันมหาสารคาม” นายคงฤทธิ์ กล่าว

      

นอกจากความร่วมมือระหว่างองค์กรมันสำปะหลัง 8 องค์กรและสหกรณ์โคนม 2 สหกรณ์แล้ว สภาเกษตรกรฯ ยังได้ประสานความร่วมมือกับ ธกส.ดำเนินการยืมเครื่องฝานมันสำปะหลังจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.ร้อยเอ็ด จำกัด เพื่อใช้ในการผลิตมันเส้น

     

ขณะเดียวกันสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ดำเนินการซื้อเครื่องฝานมันให้กลุ่มเกษตรกร เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20-30 เครื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดงบประมาณซื้อเครื่องฝานมันสำปะหลังเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว จากที่สหกรณ์เคยซื้อมันเส้นจากพื้นที่อื่นและต่างประเทศก็ค่อยๆลดปริมาณลง ซึ่งขณะนี้เป็นการซื้อมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.มหาสารคาม 100% ล่าสุดยอดสั่งซื้อในรอบปีการผลิตที่จะถึงนี้ สหกรณ์โคนมมหาสารคามสั่งซื้อมันเส้นจากกลุ่มเกษตรกรกว่า 1,500 ตันมันเส้น    

                                                                                                                

ขณะเดียวกัน นอกจากการทำข้อตกลงการจำหน่ายมันเส้น เพียงอย่างเดียวแล้ว โครงการ “คน- มัน- โค” ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาช่วยเรื่องการทำสูตรอาหารสัตว์จากมันสำปะหลังเพื่อเป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่า โดยทุกชิ้นส่วนของมันสำปะหลังจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งหมดเพื่อเป็นการตัดปัญหาคนกลาง เกษตรกรกับผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

     

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตต่อจากนี้ โครงการดังกล่าว ได้จัดให้มีการร่วมปรึกษาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นคู่ค้าและขยายตลาดให้กับองค์กรเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังต่อไป เพื่อขับเคลื่อนงานเกษตรให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรายสินค้าอื่นๆ หันมาขึ้นทะเบียนกับสภาเกษตรกรฯให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการประสานความช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านการเกษตรต่อไป

Tag :