บิ๊กป้อม! เคาะระฆัง ถกการเมือง โดนรุมจี้ "ปลดล็อก"

by ThaiQuote, 25 มิถุนายน 2561

รัฐบาล คสช.เดินหน้า ประชุมหารือพรรคการเมือง โดยช่วงบ่ายวันนี้ (25 มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานในการหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี เกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2562 เพื่อเดินหน้าตามโรดแมปของรัฐบาล  นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) กล่าวว่าพรรคพร้อมไปพูดคุย หารือกับคสช.โดยตนจะไปด้วยตัวเอง ซึ่งการเปิดหารือดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ส่วนกระแสข่าวที่จะให้มีการยกเลิกไพรมารี่โหวตนั้น พรรคประชาชนปฏิรูปไม่เห็นด้วย เพราะเรามองว่าระบบไพรมารี่โหวตมีความจำเป็น ถือเป็นการปฏิรูปการเมือง และเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัดได้มีส่วนร่วม นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า มีข้อเสนอต่อ คสช.คือ คสช.ต้องใช้ ม.44 อนุญาตให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนกฎหมายเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวังได้ รวมไปถึงการใช้ ม.44 เพื่อ ปลดล็อกทางการเมืองอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมสมาชิกพรรค การหาสมาชิกพรรคใหม่ และยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ทั้งนี้ พรรคพลังธรรมใหม่สนับสนุนการทำ Primary Vote ส.ส. เขต ตามรัฐธรรมนูญ 60 โดย คสช.ต้องใช้ ม.44 ยก เลิกการทำ Primary Vote สส. สัดส่วน ตาม ม.51 ออกไปก่อน หรือไม่ก็แก้ไขวิธีการทำ Primary Vote ส.ส. สัดส่วนใหม่ เพราะตามกฎหมายเดิม จะมีความยุ่งยากมากในการทำ Primary Vote ส.ส. สัดส่วน นอกจากนี้ ต้องการให้ คสช.ใช้ ม.44 แก้ไขมาตรา 38 (4) ที่ระบุว่าการเลือกตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้ง ของพรรคการเมือง กระทำได้โดยที่ประชุมใหญ่ทางพรรคการเมือง เปลี่ยนให้เป็นอำนาจกรรมการบริหารพรรคสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมืองได้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าในการประชุมร่วมหนนี้ จะรับฟังแนวทางของคสช. ในการดำเนินกิจการพรรคการเมืองก่อน ขณะที่ส่วนตัวมองว่า คสช. ควร ปลดล็อกคำสั่งต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการพรรคการเมืองทั้งหมดและให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของพรรคการเมืองได้ ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีปัญหา สุดท้ายอยู่ที่ คสช. เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งย้ำก็ไม่กระทบการทำงานของพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าพรรคยังยืนยันข้อเสนอให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคต่างๆ สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย จึงอยู่ที่ คสช. จะพิจารณาว่าจะดำเนินการเมื่อใด เพราะประโยชน์จะอยู่ กับการปฏิรูปการเมืองด้วย หากไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ ก็เท่ากับไม่ได้เดินหน้าปฏิรูปการเมือง ส่วนข้อห่วงใยเรื่องปัญหาความมั่นคงนั้น นายอภิสิทธ์ ระบุว่า คสช. สามารถใช้กฎหมายอื่นในการดูแลได้อยู่แล้ว หากมีการดำเนินการให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบ ก็ลงโทษให้หนัก แต่พรรคการเมืองน่าจะได้เดินตามกฎหมายที่ออกมา อย่างไรก็ตามคิดอาจยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะไม่แน่ใจว่า คสช. กำหนดอย่างไร เนื่องจากมีการพูดว่าจะหาหรือ 2 รอบ แต่พรรคก็จะเสนอตามแนวทางดังกล่าว ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ยืนยันว่า จะไม่ร่วมหารือกับ คสช.ในวันที่ 25มิถุนายน อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทย จะไม่เข้าร่วมวงหารือ และไม่คาดหวังถึงบทสรุปที่จะได้ จากวงหารือดังกล่าว เนื่องจากเรื่องการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. ไม่ใช่คสช. ที่จะมาพูดคุยกับพรรคการเมืองหรือกำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงการ ปลดล็อกต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ กกต. ต้องเป็นผู้เชิญพรรคการเมืองไปหารือว่ากฎหมายพรรคการเมืองและคำสั่ง คสช. มีปัญหาอย่างไร แล้วทำข้อเสนอ ให้คสช. เพราะคำสั่งต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองจะทำให้การเลือกตั้งอาจมีความหมายน้อยลง ส่วนกรณีที่มีการดึงตัวอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก นายจาตุรนต์กล่าวว่าพรรคยังไม่ได้ประเมินเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะการดึง ส.ส. เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์คสช.ที่จะ สืบทอดอำนาจ ต่อไปให้ยาวนานที่สุด จึงมีการออกทั้งรัฐธรรมนูญ และกติกา พร้อมหาทางทำลายพรรคการเมืองเดิมให้อ่อนแอ สนับสนุนพรรคที่สนับสนุนตัวเอง และพยายามดึงคนไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องตัดสินโดยประชาชน จะนับตามจำนวนอดีต ส .ส. ไม่ได้ ต้องดูผลการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองได้ ส.ส. เท่าไร และ คสช.มีส.ส. ในมือเท่าไหร่ ไม่ใช่มีอดีต ส.ส. อยู่เท่าไหร่