จะไม่เสียใจ... ตรวจก่อนแต่งงาน

by ThaiQuote, 30 มิถุนายน 2561

เมื่อต้องมาใช้ชีวิตคู่ ความแตกต่างในชาติกำเนิด เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของแต่ละครอบครัว อุปนิสัยส่วนตัว พันธุกรรม โรคภัยไข้เจ็บประจำตัว และอื่นๆ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ได้ก่อนแต่งงาน เพราะความแตกต่างเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายครอบครัวต้องล่มสลาย แม้แต่เรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้   ข้อดีของการตรวจร่างกายก่อนการแต่งงาน อาทิ
  • เป็นการแสดงความจริงใจต่อกัน เพราะการยอมไปตรวจร่างกายเป็นการบ่งบอกถึงความรักที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และแสดงให้เห็นว่า คุณพร้อมที่จะตรวจร่างกายเพื่อเธอ (เขา) และหากพบโรคใดที่อาจติดต่อไปถึงเธอ(เขา)หรือลูก ก็พร้อมที่จะรักษา เพื่อป้องกันไว้ก่อน
  • เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างครอบครัว คือ เป็นการตรวจเพื่อหาว่าคู่รักขงอคุณมีโรคติดต่อที่จะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันรักษาไว้ก่อนเพราะคุณเองก็คงไม่อยากเห็นลูกน้อยที่จะเกิดมาต้องมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งพิการเป็นแน่
  แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง เมื่อตกลงใจจะไปพบแพทย์ด้วยกัน นอกจากแพทย์จะตรวจร่างกายโดยทั่วๆ ไปให้แล้ว ยังจะตรวจเลือดให้ด้วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะแฝงอยู่ คือ  
  1. กลุ่มเลือด (Blood groub) เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นเลือดกลุ่ม A,B,AB และ O
  2. ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hematocrit,Hemoglobin) เพื่อดูว่ามีโลหิตจางหรือไม่ หากมีภาวะโลหิตจาง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุต่อไป
  3. ซิฟิลิส (Syphilis) หรือที่นิยมเรียกว่า เลือดบวก จัดว่าเป็นกามโรคชนิดหนึ่ง อาจไม่เคยมีอาการใดๆ เลยก็ได้ แต่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจเลือด
  4. เริม โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ ยังไม่มียาขนาดใดที่จะรักษาเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสให้หายขาดได้
  5. ตับอักเสบไวรัสบี (HbsAg,Ab)
           หากพบว่า มีเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็จะได้ดูแลตนเอง และป้องกันมิให้แพร่เชื้อกระจาย            หากพบว่า ไม่เคยได้รับเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็ควรฉีดวัคซีนตับอักเสบไวรัสบี            หากพบว่า มีภูมิคุ้มกันแล้วก็จะเกิดความสบายใจได้
  1. เชื้อไวรัสเอดส์ (AIDS-HIV) สำหรับการตรวจหาเชื้อเอดส์นี้แล้วแต่ความสมัครใจของคู่สมรสว่าต้องการตรวจหรือไม่ แต่คนที่รู้ตัวว่าอยู่กลุ่มเสี่ยง (หญิงอาชีพพิเศษ พวกรักร่วมเพศ) ก็ควรที่จะตรวจไว้ก่อนดีกว่า นั่นเพราะทุกคนทราบดีว่ามัจจุราชที่มีชื่อ ว่า “เอดส์” นั้น น่าสะพรึงกลัวเพียงใด ไม่ว่าจะร่วมเพศร่วมเลือดกับใครที่มีเชื้อเอดส์นี้ คุณก็มีโอกาสเป็น “สมาชิกใหม่” ได้ทั้งนั้น
  2. ตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะทำการวัดความดันเลือด เอกซเรย์ปอด (แต่ไม่จำเป็นหากไม่มีประวัติเกี่ยวกับโรคปอดของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด) และตรวจหาโรคบางอย่างที่สงสัยหรืออาจจะเป็นเฉพาะราย เช่น โรคทางพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย คือ ธาลัสซีเมีย และปัญญาอ่อน (ดาวน์ซินโดรม)
  ว่าที่คุณแม่เตรียมตัวให้พร้อม ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือสิ่งจำเป็นจะต้องตรวจทั้ง ชาย-หญิง และโดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งต้องทำหน้าที่ “แม่” ในอนาคต ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ คือ   หัดเยอรมัน ถ้าแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างมีครรภ์ เชื้อไวรัสในเลือดจะทำอันตรายต่ออวัยวะของระบบต่างๆ เช่น เป็นต้อกระจก หูหนวก โรคหัวใจ หรือ บางรายอาจะเป็นปัญญาอ่อน ก่อให้เกิดความพิการ ถ้ารุนแรงอาจจะแท้งหรือตายตั้งแต่แรกคลอด ถ้าแม่ติดเชื้อตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์อ่อนเดือน จะพบความพิการได้มากในเดือนแรกมีโอกาสพบทารกพิการ ประมาณร้อยละ 50-80 เดือนที่ 2 มีโอกาสพบความพิการร้อยละ 20-35 เดือนที่ 3 มีโอกาสพบร้อยละ 6-15 เดือนที่ 4 ร้อยละ 1-5   ถ้าคุณไม่เคยเป็นหรือไม่เคยฉีดวัคซีน ป้องกันโรคนี้มาก่อน ก็ต้องรีบตรวจหาภูมิคุ้มกันว่าเคยเป็นหรือยัง หรือฉีดวัคซีนเสียก่อนจะสวมชุดเจ้าสาวหรือก่อนตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนควรคุมกำเนิดไว้ก่อน 3 เดือน(บางรายได้รับวัคซีนหัดเยอรมันแล้วมีครรภ์ พบว่า วัคซีนไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์) ดังนั้น หากคุณต้องการความปลอดภัยสำหรับลูกอันเป็นที่รัก และเพื่อความสบายใจสำหรับตัวคุณเอง ก็อย่าละเลยหรือมองข้ามวัคซีนหัดเยอรมันไปเสีย   ปัญหาเฉพาะคุณผู้หญิง หากเกิดกรณีเช่นนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์  
  • เลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ มานานผิดปกติเกิน 7 วัน ปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน (ปวดท้องเมนส์)
  • ปวดท้องน้อย คลำพบก้อนในช่องท้อง
  • ตกขาว หรือสิ่งผิดปกติออกทางช่องคลอด
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น บ่อยมากขึ้นๆ ไม่สะดวก รู้สึกขัดๆ
  • เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
  • เมื่อวางแผนไว้ว่าต้องการจะมีบุตร
  ถ้าคุณมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น ข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะมากกว่านั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยอาจจะตราจภายในเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกซึ่งพบได้บ่อยๆ หรือเนื้องอกหรือมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน อ่านแล้วอย่าเพิ่งกลัวการแต่งงานเสีย เพราะการรู้จักโรค รู้จักการป้องกัน ก็เสมือนเป็นภูมิคุ้มกันให้เราสุขภาพดี ถึงแม้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคจะยังไม่มียารักษาใดที่รักษาให้หายขาด หรือมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังมีทางอื่นช่วยได้หากรู้ล่วงหน้า ก็โดยการตรวจร่างกายก่อนแต่งงาน ทั้งนี้เพื่อมิให้โรคถ่ายทอดไปสู่คู่สมรสทางเพศสัมพันธ์ หรือสู่ลูกน้อยในครรภ์ทางเลือด   ที่มา : หมอชาวบ้าน
Tag :