ถอดบทเรียนถ้ำหลวง ถึงคราวปฏิรูปสื่อ?(อีกแล้ว)

by ThaiQuote, 12 กรกฎาคม 2561

วันที่ 11 ก.ค.  ได้มีการจัดงานเสวนา ถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทาง รวมทั้งทิศทางการทำงานของสื่อมวลชน ในยุคปัจจุบัน  เพื่อที่ไม่ให้การทำงานเพียงเพื่อรายงานสถานการณ์และจบลงไปพร้อมปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่   ชมโมเดลโซนนิ่งสื่อ มิติใหม่การทำงาน   น.ส. สุภิญญา  กลางณรงค์  ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ในมุมมองผู้บริโภคและฐานะที่เคยทำงานกำกับสื่อ หากจะสรุปภาพของการทำงานที่ผ่านมา จะมี 3 ประเด็น ที่สื่อถูกตั้งคำถาม อย่างแรกการทำงานที่ล้ำเส้นกฏกติกา  กรอบกฏหมายในพื้นที่ภัยพิบัติ ต่อมาคือละเมิดกรอบจรรยาบรรณาของวิชาชีพสื่อ  สุดท้ายเรื่องความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะเป็นการยกเครื่องปรับปรุงแก้ไขสื่อ ไม่ใช่เพื่อแค่นักข่าว แต่รวมถึงเจ้าของสื่อเองก็ด้วยเช่นกัน  การที่เกิดโมเดลใหม่ในเหตุการณ์นี้ คือการจัดโซนนิ่งการทำงานระหว่างนักข่าวกับที่เกิดเหตุ ที่ผ่านมาเรามักจะเกิดเหตุละเมิดในพื้นที่ๆเกิดเหตุอาชญากรรม พื้นที่โรงพยาบาล  หรือพื้นที่ภัยพิบัติ ที่ผ่านมามักจะถูกร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำไมไม่มีการจัดโซนนิ่งสื่อ   "การจัดโซนนิ่งครั้งนี้ ถือเป็นโมเดลใหม่ ที่พื้นที่เกิดเหตุค่อนข้างไกลไปบ้าง สื่ออาจจะบ่นกันบ้าง แต่ก็ทำให้ไม่เกิดภาพที่จะกระทบต่อผู้ประสบภัย ไม่มีภาพที่ไม่สบายใจหลุดลอดออกมา ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลถือว่าเป็นโมเดลใหม่ที่ค่อนข้างดีทีเดียวสำหรับผู้บริโภค " อีกเรื่องที่พูดถึงกันมากคือการส่งข่าวสารผ่านออนไลน์ เป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่ได้รับความนิยม เช่นการรับข่าววสารทางทวิตเตอร์ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และกระตุ้นให้สื่อทำการปรับตัว  เพราะในแง่ความเร็วความคล่องตัวของสื่อออนไลน์ ทำให้ประชาชนรับสารได้ดีกว่า ยิ่งทำให้สื่อหลักต้องทำงานด้วยความรอบครอบเพราะมีเวลาในการทำงานมากกว่าสื่อออนไลน์   ติงสิ่งที่ขาดของสื่อทำให้ถูกวิจารณ์   ขณะที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า  ข้อดีของสื่อคือ ทุ่มเท เสียสละ เข้าถึงพื้นที่ รายงานด้วยความรวดเร็ว ช่วยกันตรวจสอบข่าวในการรายงานซึ่งกันและกัน การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่า มีความพร้อมและยินดีปฏิบัติตามคำขอเจ้าหน้าที่ การเป็นที่พึ่งของประชาชน  ส่วนตัวเคยพุดไวส้หลายครั้งว่า สื่อไม่มีวันตาย การเข้าถึงพื้นที่คุณต้องเป็นนักข่าวจริง ลงทะเบียนทำงาน  สร้างกำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่พึ่งของคนทั้งประเทศ  คนไทยทั้งหมดร่วมใจกันอยู่ที่สื่อ ที่หน้าจอ และไม่ใช่ระดับประเทศ การที่เรารวมใจ ส่งความเคลื่อนไหวไปทั้งโลก  ทำให้ทั่วโลกส่งทั้งแรงใจและกำลังมาช่วยเหลือ   " แต่ในส่วนที่ควรตำหนินั้น ผมขอไม่ระบุชื่อหน่วยงาน ขอเรียกสิ่งที่สื่อขาด อย่างแรกขาดความเข้าใจต่อผู้บริโภคสื่อออนไลน์  ทำให้สื่อรองอย่างเอ็มไทย แซงสื่อหลักในการทำข่าววิกฤตครั้งนี้  ต่อมาขาดความใส่ใจ ของจริยธรรม ไม่ได้เหมารวม จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ขาดความใส่ใจในเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ดักฟังเสียงวิทยุเจ้าหน้าที่ เปิดชื่อผู้ประสบภัย ถัดมาขาดความสร้างสรรค์ สื่อบางรายสร้างสรรค์อย่างมาก จนเรตติ้งสูง แต่บางสื่อก็ทำข่าวแบบเดิมๆ ยิ่งพอมีการจัดระเบียบ เลยยิ่งไม่มีข่าว ไม่มีการเตรียมข่าวล่วงหน้า  ต่อมาขาดการยอมรับผิด บางสื่อขอชื่นชม ผิดยอมรับผิด แค่รับผิดก็จบ แต่บางสื่อถึงวันนี้ยังต้องพูดกันอยู่เลย แล้วก็ไปโทษคนดูอยากดู " เตรียมนำบทเรียนภัยพิบัติปรับใช้งานจริง ด้าน นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ครั้งนี้ประเมินภาพรวมทั้งนักข่าวภาคสนาม โลกโซเชียล ครั้งนี้คือจุดอิ่มตัวของการทำข่าวเชิงดราม่า  ซึ่งสื่อโดนวิจารณ์ในแง่ลบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งสึนามิ และคดีเกาะเต่า แม้ทำผิดแค่หนึ่งแต่โดนวิจารณ์รวมทั้งหมด และเป็นยุคสื่อออนไลน์ขึ้นสู่ความนิยมสูงสุด ดูจากการลงทะเบียนปฏิบัติงานครั้งนี้ มีนักข่าวลงทะเบียนเป็นพันคน และการทำงานส่วนใหญ่ทำได้ดี มีเพียงบางส่วนที่ทำให้เกิดคำวิจารณ์ในทางลบ  พอเกิดเหตุขึ้นก็มีการพูดคุยร่วมกันขององค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ หารือกันว่า ต้องมีการหาวิธีการป้องกันไม่ให้ละเมิดจริยาธรรมสื่อ ไม่ให้เกิดประเด็นอ่อนไหว ไม่ให้เกิดข่าวปลอม รวมทั้งป้องกันไม้ให้ละเมิดทั้งเหยื่อและบุคคลที่สาม ตอนนี้มีการพูดคุยกันแล้วว่า จะถอดบทเรียนจากการทำข่าวภัยพิบัติ เพื่อเป็นคู่มือการทำงาน และการปฏิบัติการซ้อมความพร้อมในการลงมือปฏิบัติงานจริง ซึ่งจากรูปแบบการทำข่าวภัยพิบัติของต่างประเทศมาใช้ และมีการถอดบทเรียนจากการทำข่าวจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาใช้ควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการละเมิดต่างๆ