ผบ.ซีลชมโค้ชเอกนำเด็กเอาชีวิตรอดในถ้ำ-บีบีซีเจาะลึกชีวิต

by ThaiQuote, 12 กรกฎาคม 2561

ทุกคนลงความเห็นเหมือนกันว่า ผู้ที่ทำให้เด็กทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในถ้ำเป็นเวลาหลายวันนั่นก็คือ "โค้ชเอก" เอกพล จันทะวงษ์ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนของทีมที่เข้าไปพร้อมกัน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีคำกล่าวหาว่าเอกพลควรเป็นคนที่ถูกตำหนิที่นำทีมข้าไปในถ้ำ ทว่าพ่อแม่ของสมาชิกทีมหมูป่ากลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ได้โค้ชเอก เด็ก ๆ ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร

แต่ "โค้ชเอก" เอาความสามารถในการดูแลในยามคับขันมาจากที่ใดกันเล่า หรือ ตัวตนของเขาเป็นอย่างไร บีบีซีไทยสนทนากับพระครูประยุตเจติยานุการ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และนพรัตน์ กันทะวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมหมูป่า ที่ได้รู้จักกับเอกพลมาเป็นเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา

คนภายใต้ร่มกาสาวพัตร์

ท่านพระครูฯ เน้นว่าประสบการณ์การบวชเรียนของโค้ชเอกมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้เด็ก ๆ ควบคุมสติของตนเองและทำให้อยู่รอดในถ้ำนานถึง 9 วันก่อนที่จะพบตัว

"ด้วยความที่ได้รับการฝึกฝนในวัด ได้เรียนเจริญสติปัฏฐาน…ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ถ้าคนนั้นไม่ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมหรือศึกษาเรื่องพวกนี้ก็จะนั่งแต่วุ่นวายและร้องไห้ฟูมฟายเพื่อที่จะรอความช่วยเหลือ แต่ยิ่งร้องไห้เหมือนยิ่งพลังหมด"

พระครูฯ ยังได้เล่าย้อนประวัติว่า พ่อและแม่ของเอกพลนั้นเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก และต่อมาก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเสาหิน จ.ลำพูน ราว 8 ปี

ในขณะที่เป็นสามเณรก็เล่าเรียนปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอก แต่ต่อมาก็ต้องสึกออกมาดูแลย่าที่อาศัยอยู่ในฝั่งพม่า

หน้าที่รับผิดชอบ

พระครูฯ อธิบายว่าเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เอกพลได้เข้ามาช่วยงานที่วัดพระธาตุดอยเวาอย่างจริงจัง จนเสมือนเป็น "คนหนึ่งในวัด"

ช่วงประมาณ 9 โมงเช้าของทุกวัน เขาจะเข้ามาทำงานนานา ไม่ว่าจะเป็นทำความสะอาด ตลอดไปจนถึงดูแลญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีต่าง ๆ

พระครูยังเล่าด้วยว่า เอกพลต้องข้ามไปมาระหว่างฝั่งไทยกับ จ. ท่าขี้เหล็กของพม่าเพื่อดูแลย่า "แต่ถ้ากลับมาดึกก็จะนอนที่วัด ตื่นเช้ามาจะรีบไปดูแลย่า จน 9 โมงจะข้ามไปฝั่งไทยเพื่อกลับมาที่วัดอีกครั้ง"

มาเป็นผู้ช่วยโค้ช

นพรัตน์ กันทะวงศ์ หรือโค้ชนก ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอล หมูป่าอะคาเดมีแม่สายกล่าวว่ารู้จักครอบครัวของเอกพล และเคยเห็นเขาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ แต่เมื่อเอกพลไปบวชเรียนก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย

"มาเจอกันอีกทีเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมก็กำลังซ้อมฟุตบอลกับเด็ก ๆ เขาสึกมาแล้ว ผมจำไม่ได้ แต่เขาเดินเข้ามาแนะนำตัวว่าเป็นลูกใคร"

นพรัตน์บอกว่าชายหนุ่มเป็นคนชอบออกกำลังกาย ตอนแรกก็ปั่นจักรยานอยู่กลุ่มเดียวกับน้องชายของเขา ต่อมาก็หันมาเล่นฟุตบอล ซึ่งฝีเท้าก็ใช้ได้อยู่ ภายหลังเอกพลก็แสดงความสนใจว่าอยากจะมาเป็นผู้ช่วยฝึกสอน

"เขาชอบออกกำลัง และรักเด็ก เป็นคนทำอะไรที่มีความมุ่งมั่น ชอบงานจิตอาสาด้วย ก็เลยให้มาทำเรื่องของการออกกำลังกายให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ ให้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ห่างไกลจากยาเสพติด" นพรัตน์เล่า

พระครูฯก็บอกว่าหลังเลิกงานในวัดแล้ว เอกพลก็จะออกไปพาทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายไปซ้อมฟุตบอล

และหากวันไหนที่วัดไม่มีงาน หรือช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ เขาจะนัดเด็ก ๆ ไปปั่นจักรยานในหลายสถานที่ เช่น บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เชียงแสน หรือดอยตุง จนถึงสองทุ่มก็กลับเข้ามาที่วัด

พลังจากสมาธิ

พระครูฯ กล่าวอย่างชื่นชมว่า ตลอดเวลาที่เห็นชายหนุ่มวัย 25 คนนี้มา 4-5 ปี "โค้ชเอกเองเป็นคนนิสัยดี อัธยาศัยไมตรีดี ไม่ค่อยบ่น เป็นกันเองกับทุกคน ไม่ค่อยดื้อ ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน"

อย่างไรก็ตาม พระครูฯ ก็บอกว่า ช่วงแรกที่ทีมหมูป่าหายไป ก็รู้สึกโกรธเขาที่พาเด็ก ๆ เข้าไปในถ้ำเหมือนกับคนอื่น

"จนถึงวันที่เจอเด็กเราก็เชื่อว่านั่นแหละตัวตนของโค้ชที่แท้จริง ได้แสดงพลังอะไรต่าง ๆ ของที่ได้ปฏิบัติมา ตลอดระยะเวลา นำไปใช้ในครั้งนี้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดจนคนทั้งโลกต้องทึ่งว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่ไปติดถ้ำกับเด็ก อันนี้คือสิ่งที่อาตมามองย้อนให้เห็นเรื่องของการฝึกสมาธิ" พระครูฯ กล่าว

พระครูฯ กล่าวว่า เอกพลคุ้นเคยกับการทำสมาธิเป็นอย่างดีเมื่อบวชเรียน และเมื่อสึกออกมาแล้วแต่ก็ยังฝึกฝนอยู่เสมอ เพราะเมื่อมีกิจกรรมการทำสมาธิขึ้นที่วัด เขาก็เข้าร่วมอยู่เป็นประจำ และพระครูฯ ก็เชื่อว่าสติและสมาธิเป็นประเด็นหลักที่ทำให้โค้ชเอกและเด็ก ๆ อยู่ในถ้ำได้ถึง 9 วัน

ความเชื่อของพระครูฯ ได้รับการยืนยันจากหน่วยซีลที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กออกมา พล.ร.ต. อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล เล่าว่าเอกพลน่าจะเอาความรู้เรื่องสมาธิมาใช้ ทำให้เด็ก ๆ สงบนิ่งและใช้ออกซิเจนน้อยลง

ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว การสงบนิ่งมีสมาธินี้เองที่จะเป็นหนทางรอดของผู้ที่อยู่ในภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ และคาร์บอนไดออกไซด์สูงได้ เพราะการรู้สึกผ่อนคลาย ไม่กระวนกระวายจะช่วยผ่อนคลายระบบการทำงานของร่างกาย ลดอัตราการเผาผลาญลง

นักดำน้ำที่พาตัวเองอยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ของใต้น้ำ ที่คล้ายกับในถ้ำ มีเคล็ดลับในการรักษาระดับออกซิเจนและลดอัตราการเผาผลาญลง โดยพยายามทำใจให้สบายและผ่อนคลายขณะอยู่ใต้น้ำ เทคนิคนี้คล้ายกับการทำสมาธิ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และนักดำน้ำสามารถสงบจิตใจจนไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่านสับสนขณะทำกิจกรรมเสี่ยงอันตราย

พระครูฯ อธิบายว่าโค้ชเอกน่าจะนำเอาสิ่งที่ปฏิบัติมานี้ไปสอนเด็กทั้ง 12 คน ให้รู้จักผ่อนคลาย ควบคุมสติของตนเองได้ รวมทั้งปลอบประโลมสร้างพลังให้เด็กในทีมหยุดร้องไห้และกลัวน้อยลงได้

"แต่สำหรับโค้ชเอก อาจจะร้องไห้แค่เงียบ ๆ ไม่ให้ใครได้ยิน แต่สร้างพลังให้ตัวเองเพื่อที่จะปกป้องเด็กทั้ง 12 คน" ท่านพระครูสรุปที่สุด