อย่าเพิ่งหัวร้อน’เพิ่มโทษใบขับขี่’ ส่องขั้นตอนตั้งกม.ไม่เร็วอย่างที่คิด

by ThaiQuote, 22 สิงหาคม 2561

อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ได้ออกมาแก้ข่าวแล้วว่า การเสนอร่างพ.ร.บ. นี้ ยังไม่เป็นที่ยุติ ที่จะประกาศใช้เป็นแต่เพียงการเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อมาดูรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับขั้นตอนการที่จะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่ง มาบังคับใช้กับประชาชนนั้น ขั้นตอนแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการศึกษาความเกี่ยวข้อง ผลกระทบ สาเหตุต่างๆ รวมทั้งข้อบกพร่องต่างๆในกฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งศึกษาสภาพความเป็นจริงของสังคมในเวลานั้นๆ สำหรับขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น จะมีเรื่องที่สามารถเสนอต่อครม.มีอยู่ 13 ประเภท  โดยส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) พร้อมเอกสาร ตามวิธีการ จำนวน และระยะเวลาที่สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีกำหนด กำหนดระยะเวลาเสนอเรื่องต่อ ครม.โดยให้หน่วยงานเสนอเรื่องมายัง สลค. ก่อนวันที่ประสงค์จะให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 15 วัน ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้ส่งเรื่องไปยัง สลค. ก่อนวันที่ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเรื่องทั่วไปอย่างน้อย 7 วัน และเรื่องร่างกฎหมายอย่างน้อย 10 วัน เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ ประชาชนสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้ในช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณา และส่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มเติม ว่าสอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งถ้าไม่สอดคล้องก็สามารถแจ้งหรือนำเสนอต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้โดยตรง อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจเปลี่ยนแปลงถ้อยคำหรือไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 เรียกว่า “ขั้นพิจารณาเพื่อบรรจุวาระในการพิจารณา” โดยจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช.” เป็นผู้พิจารณาว่าร่างกฎหมายที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดส่งมานั้นว่า สมควรบรรจุวาระการพิจารณาหรือไม่ อย่างไร ในช่วงใด และถ้าสมควรบรรจุวาระ จะมีการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ควรเป็นใครบ้าง มาจากหน่วยงานหรือภาคส่วนใด ขั้นตอนที่ 2 เรียกว่า “ขั้นรับหลักการ” เมื่อร่างกฎหมายจากขั้นตอนที่ 1 เข้ามาสู่ สนช. แล้ว ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาหลังบรรจุวาระแล้ว เท่าที่ติดตามการพิจารณาของ สนช. พบว่ามีตั้งแต่ 1 เดือนถึง 6 เดือน โดยขั้นตอนนี้สมาชิก สนช. จะมีการประชุมพิจารณาเพื่อจะรับหรือไม่รับร่างกฎหมายในการพิจารณาต่อไปหรือไม่ หากที่ประชุมเสียงข้างมากไม่รับหลักการร่างนั้นก็จะตกไป แต่หากเสียงข้างมากหลักการก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม ขั้นตอนที่ 3 เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 2 ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้น คณะกรรมาธิการจะพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้งซึ่งอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่แก้ไขก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ให้เปลี่ยนไปจะหลักการเดิมของร่างกฎหมาย ขั้นตอนนี้เรียกอีกอย่างว่า “แปลญัตติ” เมื่อเสร็จสิ้นแล้วร่างกฎหมายจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 ระยะเวลาขั้นตอนนี้เท่าที่ติดตามพบว่ามีตั้งแต่ 1 เดือนถึง 6 เดือน ขั้นตอนที่ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ให้เสนอร่างกฎหมายนั้น โดยแสดงร่างเดิมและการแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา ซึ่งรายงานนั้นอย่างน้อยจะต้องระบุว่าได้มีหรือไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราใดบ้าง และถ้ามีการแปรญัตติ มติของคณะกรรมาธิการเกี่ยวด้วยคำแปรญัตตินั้นเป็นประการใด หรือมีการสงวนคำแปรญัตติของผู้แปรญัตติ หรือมีการสงวนความเห็นของกรรมาธิการ ก็ให้ระบุไว้ในรายงานด้วย   ถ้าในกรณีที่คณะกรรมาธิการ เห็นว่ามีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องควรทราบหรือควรปฏิบัติ ให้บันทึกข้อสังเกตดังกล่าวนั้นไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาด้วย ทั้งนี้เมื่อประธานสภาได้รับร่างพระราชบัญญัติและรายงานของคณะกรรมาธิการ แล้วให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป โดยให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน   ในกรณีที่สภาเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ให้ประธานสภาส่งรายงานและข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี ศาลฎีกาศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องด้วย ขั้นตอนที่ 5 ลงมติเห็นชอบ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในขั้นตอนที่สอง สนช.ทั้งสภาจะต้องลงมติร่างกฎหมายนั้น ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา และให้อภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือที่ผู้แปรญัตติสงวนคำแปรญัตติ หรือที่กรรมาธิการสงวนความเห็นไว้ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมสภาจะได้ลงมติเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างนั้นก็ตกไป แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ จะส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับต่อไป เป็นอันจบสิ้นกระบวนการตรากฎหมาย  หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ ให้ สนช.ปรึกษาร่างกฎหมายนั้นอีกครั้งหากยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภาให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย   สำหรับกระบวนการในขั้นตอนที่ 2 นี้ ภาคประชาชนจะมีสิทธิยับยั้งหรือเร่งให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถพิจารณาหรือไม่ถูกพิจารณาได้ ตั้งแต่ในขั้นตอนที่ 1-3 โดยต้องแสดงเหตุผลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจนต่อ สนช. ที่เกี่ยวข้องให้ได้ว่า ทำไมจำเป็นต้องเร่งหรือยังยั้งร่างกฎหมายดังกล่าว  คาดกันว่า กระบวนการตรากฎหมายจนกระทั่งกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะใช้เวลานับตั้งแต่วันนี้ไปอีกประมาณ 1 ปี