สนทช.ปรับแผนระบายน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์

by ThaiQuote, 4 กันยายน 2561

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวว่า หลังจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 820 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนจะเพิ่มขึ้น

จึงประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาปรับแผนลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำให้เกิดน้อยที่สุด พร้อมให้แจ้งจังหวัดและราษฎรทราบแผนการระบายน้ำล่วงหน้า โดยพบมีน้ำสูงกว่าตลิ่ง ที่ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์

ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 53,545 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมี 3,143 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 61 สามารถรับน้ำได้อีก 19,420 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ความจุเกินร้อยละ 100 แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนน้ำอูน ร้อยละ 108 เขื่อนแก่งกระจาน ร้อยละ 107 และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 แห่ง ระดับน้ำลดลง 11 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง , ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง

สำหรับอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังและมีความจุร้อยละ 80-100 แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ เขื่อนวชิราลงกรณ ร้อยละ 94 เขื่อนศรีนครินทร์ ร้อยละ 91 เขื่อนรัชชประภา ร้อยละ 86 เขื่อนขุนด่านปราการชล ร้อยละ 86 เขื่อนปราณบุรี ร้อยละ 79 และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 64 แห่ง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 9 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 8 แห่ง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 แห่ง , ภาคตะวันออก 12 แห่ง , ภาคกลาง 4 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง

ทั้งนี้ยังเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่ความจุน้อยกว่าร้อยละ 30 ด้วย แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนทับเสลา อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 38 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง , ภาคตะวันออก 4 แห่ง , ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 5 แห่ง

จึงต้องวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง