กรมชลฯแจงแผนรับมือ เกาะติดน้ำโขง

by ThaiQuote, 6 กันยายน 2561

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2561 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมได้มีการประชุมติดตามการคาดการณ์ปริมาณฝนเดือนกันยายนและตุลาคม เพื่อวางแผนระบายน้ำของแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงรับทราบผลกระทบและความช่วยเหลือ และคาดการณ์พื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อน เช่น พื้นที่ท้ายน้ำที่อาจได้รับกระทบจากการพร่องน้ำ จากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ รวมถึงลุ่มน้ำปราจีนบุรี และนครนายก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่จะตกลงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ด้วย     ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือและบูรณาการข้อมูลแม่น้ำโขงระหว่างประเทศ เช่น กรณีเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำท่วมและแล้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2.การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูน้ำหลาก ปี 2561 เพื่อเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการบูรณาการกระบวนการติดตามและการแจ้งเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำ 13 ทุ่ง โดยกรมชลประทานดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่รับทราบแผนดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะด้วย 3.การหารือมาตรการการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 2561 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงน้ำน้อย เตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย ปี 2561 และการพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำ และประสานกรมฝนหลวง เพื่อเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำด้วย   ปรับแผนระบายน้ำเขื่อนแม่กลอง   นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำใน ลุ่มน้ำแม่กลองอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งการระบายน้ำผ่านเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ มีแนวโน้มที่จะปรับการระบายน้ำเพิ่มเป็น 79.86 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ ลงสู่แม่น้ำแม่กลอง และไหลต่อเนื่องมายังเขื่อนทดน้ำแม่กลอง ตามลำดับ   กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำแม่กลอง ในอัตรา 307 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายผ่านเขื่อนแม่กลอง 902 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มการระบายครั้งละ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมติดตามผลกระทบด้านท้ายเขื่อนแม่กลองตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม ควบคู่ไปด้วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สภาพลำน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดราชบุรี สามารถรับน้ำได้สูงสุด 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนบริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม สามารถรับได้ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน ได้บูรณาการทำงานร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดแล้ว https://www.youtube.com/watch?v=tRckIHmiMdE&feature=youtu.be