ก.ดิจิทัล ศึกษาโมเดลญี่ปุ่น ปฏิรูปอุตสาหกรรมดาวเทียม

by ThaiQuote, 6 มีนาคม 2562

กระทรวงดิจิทัลจับมือหอการค้าไทยศึกษาโมเดลดาวเทียมจากญี่ปุ่น เตรียมพร้อมสัมปทานไทยคมหมดสัญญาปี 64 เผย เข้าสู่ยุคดาวเทียมอินเทอร์เน็ต

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของกระทรวงดีอีก่อนที่ผู้รับสัญญาสัมปทานในกิจการดาวเทียมคือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี 2564 นั้น

กระทรวงดีอีได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเพื่อศึกษาแนวทางการประกอบกิจการอวกาศและอุตสาหกรรมดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดทิศทางการวางนโยบายการกำกับดูแลในมิติของการเปิดให้กิจการดาวเทียมมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

เนื่องจากตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) ฉบับใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น กระทรวงดีอีจึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกอย่างให้รอบด้าน
ทั้งนี้ การกำกับดูแลต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลของต่างประเทศ โดยการหารือกับประเทศญี่ปุ่นที่สำนักงานนโยบายอวกาศแห่งชาตินั้นทำให้เห็นรูปแบบการดำเนินการ โดยพบว่าที่ญี่ปุ่นมีการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติเข้ามาดำเนินการ อาทิ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย

และมีการแยกหน้าที่การดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงด้านไอซีทีของญี่ปุ่นจะวางแผนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะมอบนโยบายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ปฎิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้อีกที

สำหรับในประเทศไทยเองหลังจากที่กฎหมายใหม่กำลังจะมีผลบังคับใช้จึงจำเป็นต้องแยกอำนาจหน้าที่ของกระทรวงดีอีและสำนักงาน กสทช.ให้ชัดเจน เพราะตามกฎหมายใหม่การขอใบอนุญาต การประกอบกิจการต้องเป็นอำนาจของ กสทช. ส่วนกระทรวงจะทำหน้าที่วางแผนนโยบายการประกอบกิจการ เพื่อรองรับการเปิดเสรีดาวเทียมในไทยด้วย

ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมดาวเทียมในอนาคตจะมีดาวเทียมอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเกิดขึ้น เพราะแนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit : NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง

ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, IoT การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก ดังนั้น ธุรกิจดาวเทียมยังมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงมีผู้ประกอบการมากขึ้น และหลายอุตสาหกรรมต้องหันมาพึ่งพิงดาวเทียมมากขึ้นด้วย

ในญี่ปุ่นดาวเทียมส่วนใหญ่เป็นวงโคจรต่ำสามารถยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียมบนท้องฟ้าทั่วโลกประมาณ 1,000 ดวง จากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมามีแค่ 200 ดวง แต่ในอนาคตปี 2564 ดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เห็นได้จากการที่ “อีลอน มัสก์” เจ้าของสเปซเอ็กซ์และเทสลา ได้ใบอนุญาตดาวเทียมดังกล่าวไปแล้ว 10,000 ดวง ซึ่งเขาจะยิงขึ้นบนท้องฟ้าเมื่อไหร่ก็ได้ ก็จะเป็นเหมือนการสร้างดีมานด์ในอุตสาหกรรมด้วย ขณะที่ประเทศไทยเองปัจจุบันมีดาวเทียมเป็นของไทยคมที่จะหมดสัมปทานคือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 และไทยคม 6

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เดือดแทนหัวเว่ย จีนเอาผิด 2 แคนาดาจารกรรมข้อมูล