จุดสังเกตในธนบัตรรัฐบาลไทย

by ThaiQuote, 19 เมษายน 2562

ธนบัตรเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงต้องเป็นสิ่งพิมพ์ที่ยากต่อการปลอมแปลง นอกจากนี้ยังเป็นสื่อกลางที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นชาติ และคุณค่าทางศิลปะไทยที่ประณีตงดงาม

ธนบัตรจึงมีลักษณะพิเศษที่ยากต่อการปลอมแปลง แต่ต้องง่ายต่อการสังเกตและตรวจสอบ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการดังนี้ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง​ และเพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป

 

สัมผัส
1. กระดาษธนบัตร
ทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนป​ระกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป

 


2. ลายพิมพ์เส้นนูน
เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ ​จะรู้สึกสะดุด

 


ยกส่อ​ง
​3. ลายน้ำ
​เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ

 

4. ภาพซ้อนทับ
เกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง


พลิกเอียง
5. ตัวเลขแฝง
ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

 

6. หมึกพิมพ์พิเศษ
ลายดอกประดิษฐ์ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา ชนิดราคา 500 บาทและ 1000 บาท จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท จะเห็นเป็นประกาย

 

7. แถบสี
เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กเคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง และมีบางส่วนของแถบปรากฎให้เห็นเป็นระยะ จะเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นอ่านได้ชัดเจน​

 

8. แถบฟอยล์ภาพ 3 มิติ
ผนึกไว้ตามแนวตั้ง ภายในมีภาพที่เป็นมิติ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมาจะเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหว และเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับสวยงาม

 

9. ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง
พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ซึ่งนำมาใช้บริเวณลวดลายสีพื้น หมวดอักษรและเลขหมายของธนบัตร


ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

"บิ๊กป้อม" เผย ไม่มีสอบย้อนหลัง "บิ๊กโจ๊ก" ทุกอย่างจบแล้ว