“ชาไทย” เนื้อหอม! ต่างชาติรุมจีบซื้อขาย-จ้างผลิตเพียบ

by ThaiQuote, 14 มิถุนายน 2562

"พาณิชย์”เผย ผลการนำผู้ประกอบการชาไทยเข้าร่วมออกบูธ DTN Tea Bar ในงาน THAIFEX 2019 ประสบความสำเร็จเกินคาด ต่างชาติต่อแถวเจรจาธุรกิจ สามารถตกลงซื้อขายได้ทันที 8 ล้านบาท แถมยังได้รับความสนใจซื้อไปจำหน่าย ว่าจ้างผลิตจากคู่ค้าต่างชาติอีกเพียบ พร้อมแนะใช้เอฟทีเอเปิดทาง หากต้องการเจาะจีน อาเซียน หลังคู่ค้าไม่เก็บภาษีจากไทย


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามผลการนำผู้ประกอบการชาไทยจำนวน 6 ราย ได้แก่ ชาดอยวาวี สวรรค์บนดิน ชาเวียงกาหลง ชาดี 101 ชาวังพุดตาล และเสริมลักษณ์ชาไทย เข้าร่วมจัดนิทรรศการชาและเวิรกชอปปรุงชาที่บูธ DTN Tea Bar ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ THAIFEX 2019 เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าทุกรายประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้าต่างชาติเข้ามาชมสินค้า และเจรจาธุรกิจ


“เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลจากผู้ประกอบการชา พบว่า สามารถจับคู่ธุรกิจและมีคำสั่งซื้อชาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในงานทันที มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท และยังได้รับการติดต่อจากโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าในไทยให้ไปร่วมจัดกิจกรรมแสดงการปรุงชาและวางจำหน่ายสินค้า รวมทั้งยังมีนักธุรกิจจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ แคนาดา มาเลเซีย และบรูไน ทั้งที่เป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด และตลาดออนไลน์ ติดต่อขอเจรจาสั่งซื้อสินค้า ตลอดจนจ้างให้ผลิตสินค้า (OEM) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตกลงราคาและปริมาณสินค้าขั้นต่ำ”นางอรมนกล่าว


สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่กรมฯ ได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในการขยายตลาด และนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาสินค้า ปรับปรุงคุณภาพสินค้า และช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย


นางอรมนกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่เป็นคู่เจรจาเอฟทีเอกับไทย เช่น จีนและอาเซียน ยกเว้นเมียนมา ไม่เก็บภาษีนำเข้าชาจากไทยแล้ว หากเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดส่งออกไปยังจีนและเมียนมา ก็ควรจะใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอมาช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก แต่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าชา และผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคด้วย


ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกชาเขียวขนาดบรรจุไม่เกิน 3 กิโลกรัม เป็นมูลค่ากว่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.8% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นสินค้าสำหรับตลาดที่เน้นสินค้าพรีเมียม คุณภาพดี ขณะที่ชาดำขนาดบรรจุไม่เกิน 3 กิโลกรัม สามารถส่งออกได้มูลค่า 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 58.7% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
แจ้งเกิด “ชาตรามือ” เอาคืนให้แบรนด์ไทย! เปิดสาขาแรกฮ่องกง ย่าน Causeway Bay