เดินหน้า รถไฟสายใหม่บ้านไผ่-นครพนม คาดเสร็จปี 67

by ThaiQuote, 21 มิถุนายน 2562

รอได้เลย เปิดเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 ก.ม. 18 สถานี เชื่อมพรมแดน 5 ประเทศ คาดแล้วเสร็จปี 2567

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สิ้นสุดการรอคอย รถไฟทางคู่สายใหม่บ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ของชาวอีสาน” ในการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ว่า โครงการนี้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี โดยมีระยะทาง 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 19 อำเภอ ของ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 18 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี (มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหารและนครพนม) สถานีขนาดกลาง 5 สถานี และสถานีขนาดเล็ก 9 สถานี มีป้ายหยุดรถ 12 แห่ง มีย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 6 แห่ง

 

 

ในด้านความปลอดภัย โครงการได้มีการออกแบบให้มีสะพานรถไฟข้ามถนน/ถนนเลียบคลอง 158 แห่ง มีสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง มีทางลอดทางรถไฟ 245 แห่ง และมีทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน ภายหลังจาก ครม. อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จากนั้น ในปี 2563 จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567

 

 

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลภาพรวมโครงการ ว่า ความพิเศษของทางรถไฟสายใหม่นี้ที่สามารถเชื่อมพรมแดนได้ถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจ และสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนด้วยข้อได้เปรียบของเส้นทางเชื่อมโยงดังกล่าว

 

 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ยังเป็น 1ในโครงการเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลและการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกสบายขึ้น ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งและโลจิสติกส์สินค้า เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลกอีกด้วย