"ทีเอ็มบี-ธนชาต" ควบรวมใหญ่เบอร์ 6 ของไทย ยันไม่มีปลดพนักงาน

by ThaiQuote, 9 สิงหาคม 2562

"ขุนคลัง" เตรียมให้กองทุนวายุภักษ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบงก์ใหม่หลังควบรวม "ทีเอ็มบี-ธนชาต"  วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ลั่น! ยังมีอำนาจตั้งประธานบอร์ดต่อไปตามข้อตกลง คาดกระบวนการควบรวมใช้เวลากว่า 1 ปี 6 เดือน ยืนยันไม่มีการปลดพนักงาน

วันนี้ (9 ส.ค.62) ที่กระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า การควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต (มหาชน) ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรียบร้อยแล้ว

และภายหลังการควบรวมกิจการของทั้งสอง กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 18% จากเดิมถืออยู่ประมาณ 20% เป็นอันดับสามรองจากอันดับหนึ่ง คือ ไอเอ็นจีกรุ๊ป ที่จะถือในสัดส่วน 21% จาก 29% อันดับสองคือธนชาต 20% โดยคลังจะใช้เงินจากกองทุนวายุภักษ์จำนวนไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการควบรวมจะทำให้สถานะของธนาคารขยับขึ้นเป็นธนาคารขนาดใหญ่ อันดับ 6 ของประเทศ มีขนาดทรัพย์สิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะน้อยลง แต่ผลตอบแทนจะได้มากขึ้น

“กระทรวงการคลังจะให้กองทุนวายุภักษ์เข้าไปซื้อหุ้นธนาคารธนชาต ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ธนชาตกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย เมื่อลงทุนแล้วจะทำให้ต้นทุนการลงทุนของธนาคารลดลงจากเดิมที่ลงทุนในต้นทุน 3.84 บาทต่อหุ้น ขณะนี้จะเหลือ 2 บาทต่อหุ้น หลังการควบรวมจะทำให้การบริหารของธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการรวมจุดแข็งของ 2 แบงก์เข้าด้วยกันที่ลงตัว

โดยธนชาตมีความเชี่ยวชาญด้านเช่าซื้อ ส่วนธนาคารทหารไทยเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งการควบรวมจะทำให้การทำงานดีขึ้น และเป็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกราย โดยหลังเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว คลังไม่มีนโยบายขายหุ้นออกไป” รมว.การคลัง กล่าว

ทั้งนี้ หลังการควบรวมยังคงใช้ชื่อธนาคารทหารไทยเหมือนเดิม โดยมีเงื่อนไขว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งประธานกรรมการธนาคาร โดยที่ผ่านมาได้หารือกับซีอีโอทหารไทย ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนั้น จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะสรรหา

โดยขณะนี้บุคคลที่จะนั่งในตำแหน่งดังกล่าวยังดำเนินงานต่อไปปกติ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการจัดการภายในหลังการควบรวม แต่การควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เพื่อได้สิทธิลดหย่อนภาษี

“การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจของธนาคารและภาพรวมระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็งขึ้น โดยขนาดของธุรกิจธนาคารใหม่จะอยู่ที่ 1.9-2 ล้านล้านบาท อันดับที่ 6 ในระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทยถือว่ามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอี ส่วนธนชาตจะมีศักยภาพดำเนินธุรกิจกลุ่มลูกค้ารายย่อย เมื่อทั้งสองแห่งรวมกิจการ จะเสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” รมว.คลัง กล่าวในท้ายสุด