“โครงการศิลปาชีพพิเศษ” อาชีพพระราชทานจาก พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

by ThaiQuote, 12 สิงหาคม 2562

ด้วยรักจากแม่! “โครงการศิลปาชีพพิเศษ” ส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน ยกฐานะราษฎรในชนบทที่ยากจน อาชีพพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในการดำเนินงานต่างๆ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงกระทำในทุกด้านไปพร้อมๆ กัน

 

 

ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แล้ว ยังมีการพัฒนาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการศิลปาชีพพิเศษ เน้นในเรื่องความสำคัญของอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำรงชีพตามปกติ ซึ่งในเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นผู้ดำเนินงานอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยสนับสนุนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่าจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ จึงทรงอุทิศกำลังพระวรกาย ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น และทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยนั้นเป็นผู้ที่มีฝีมือในด้านศิลปาชีพหัตถกรรมสืบทอดกันมาช้านาน

 

 

แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีฝีมือดังกล่าวนับวันจะลดน้อยถอยลงไปทุกที และวันหนึ่งข้างหน้าอาจสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกฐานะราษฎรในชนบทที่ยากจน และชาวนาชาวไร่ที่ทำการเกษตรกรรมไม่เป็นผล ให้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะดำรงชีวิตและครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูสงวนไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ฟื้นคืนกลับมา และสามารถสืบทอดให้ยั่งยืนเป็นมรดกศิลปะสมบัติของชาติสืบต่อไปด้วย

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ

มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งเสริมการหารายได้พิเศษให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อยนอกฤดูกาลการทำนา โดยให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ การประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมจัดหาตลาดให้กับผลิตผลจากอุตสาหกรรมครัวเรือนเหล่านี้ด้วย

 

 

งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและงานช่างฝีมือนี้ ได้ทรงส่งเสริมในทุกภาคตามความคุ้นเคยของประชาชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่จะพึ่งพาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ

โดยที่ภาคกลางได้นำป่านศรนารายณ์ ลาน หรือหางอวนมาถักทอเป็นกระเป๋า หมวก รองเท้า ที่รองจาน และอื่นๆ มีการส่งครูไปฝึกการทอผ้าฝ้าย รวมทั้งให้มีการปั้นตุ๊กตาชาววังหรือตุ๊กตาไทย ซึ่งโครงการปั้นตุ๊กตาไทยนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรแล้ว ยังเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปในต่างประเทศ เพราะตุ๊กตาไทยได้จำลองกิริยาท่าทาง การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และประเพณีวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี

ในภาคเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการทอผ้าไหม ผ้ายก ผ้าตีนจก และผ้าฝ้ายเนื้อหนา ๆ เกี่ยวกับงานเย็บปักถักร้อย ทำไม้แขวนเสื้อ และเครื่องเงินชาวเขาที่ใช้เป็นเครื่องประดับ เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวไทยภูเขา ได้ทรงทราบว่าชาวไทยภูเขาเผ่าเย้ามีเครื่องแต่งกายที่ปักเป็นลวดลายและสีสันงดงาม ทั้งเป็นศิลปะที่ได้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จึงทรงส่งเสริมและสนับสนุนงานปักของชาวเย้าไว้มิให้สูญหายไป

 

 

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรนิยมทอผ้ามัดหมี่ และผ้าไหมใช้เองอยู่ก่อนแล้ว แต่ขาดแคลนไหมที่ใช้ทอ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้สนับสนุนการเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมือง และการทอซิ่นไหมมัดหมี่ โดยการทอจากลายเก่า ๆ แบบพื้นเมือง และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าวัสดุและค่าแรง แล้วทรงรับซื้อผ้าที่ราษฎรทอขึ้น นอกจากนั้น ผู้ที่ทอผ้ามีฝีมือเด่น ก็จะได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษต่างหากจากค่าแรง

ภาคใต้ เดิมมีการทอผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้ เช่น ผ้าลายต่าง ๆ (ผ้าลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ลายดอกมะลิ) ต่อมาการทอผ้าขาดผู้นิยม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองให้เป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าชนิดต่าง ๆ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวภาคใต้อีกหลายอย่าง เช่น การสานเสื่อกระจูด การจัดสานย่านลิเภา ซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ สามารถนำมาจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น กระเป๋าถือ ถาด พาน และที่รองแก้ว เป็นต้น

กิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องศิลปาชีพนี้ ปัจจุบันได้ขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางในแทบทุกจังหวัดของประเทศ เป็นผลให้ครอบครัวเกษตรกรหรือผู้ยากไร้โดยทั่วไปมีรายได้เพิ่มขึ้น จุนเจือครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ส่วนในด้านผลผลิตและฝีมือในการผลิตก็เพิ่มปริมาณและมีคุณภาพมากขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นที่แพร่หลายและยอมรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

และสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากผลแห่งความสำเร็จในการยกระดับรายได้ให้แก่ประชาชนก็คือ การกลับคืนมาแห่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่ได้ต่อไป

 

 

พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ ได้แสดงให้ปรากฏชัดแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระปรีชาสามารถและพระราชอุตสาหวิริยะเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทรงดำเนินการใดๆ ในทุกกรณีให้เป็นการสอดคล้องและสนับสนุนงานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรชาวไทยและประเทศไทยสืบไป

เรียบเรียงจาก : หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรแด่ สมเด็จพระพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา