ศาล ยกฟ้อง 24 แกนนำ นปช. คดี ก่อการร้าย

by ThaiQuote, 14 สิงหาคม 2562

ศาลฯ ยกฟ้อง 24 แกนนำ นปช. คดี ก่อการร้าย ชี้เป็นการใช้สิทธิการชุมนุม ไม่เข้าองค์ประกอบการก่อการร้าย

 

วันนี้ (14 ส.ค.62) ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี นายอริสมันต์ หรือกี้ พงษ์เรืองรอง อายุ 55 ปี แกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 24 คน เป็นจำเลยที่ 1- 24

ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 6 ข้อหา กรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 20 พ.ค. 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยวันนี้ นายวีระกานต์,นายณัฐวุฒิ,นายจตุพร, นพ.เหวง แกนนำและแนวร่วม นปช.ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน นอกจากนี้ยังมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย พร้อมด้วย นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.

ล่าสุด ศาลอ่านคำพิพากษา ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เพราะเป็นการใช้สิทธิการชุมนุม ไม่เข้าองค์ประกอบการก่อการร้าย

โดยศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เมื่อเวลา 11.45 น. ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดก่อการร้าย จะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 ว(1)ถึง(3) คือต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใด อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงโต้แย้งหรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิ์เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย.

จากพยานหลักฐานทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 135 / 1 วงเล็บ(1)ถึง(3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่าระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมโดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนปช. การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคม ก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไป

ก่อนหน้านั้น ชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใดและไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น ทั้งๆ ที่สถานที่ๆ ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที การที่แกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยบนเวทีที่ว่า หากทหารออกมาสลายการชุมนุมหรือทำรัฐประหารให้ประชาชนนำน้ำมันและให้มีการเผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด การวางเพลิงเผาซับเกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132/2561 ว่ามิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่สามารถจะทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

การชุมนุมของกลุ่มนปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นการใช้สิทธิ์เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ และปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของพลตรีขัตติยะกับพวก จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. เพราะแกนนำ นปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบ ปราศจากอาวุธ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จึงอาจจะมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายก็เป็นได้

การที่จำเลยที่ 7 กับพวกขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย และต่อมาเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว การกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวทรัพย์เพื่อเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้ว ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปอีกกรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย

โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวนขอให้ลงโทษฐานก่อการร้าย โดยบรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดและไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วยจึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 24 ในความผิดต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้น ฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน และศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.ได้ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว การออกอากาศเช่นว่านั้น ก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งได้ร่วมชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วหลายวัน แต่ภายหลังที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่า แกนนำกลุ่ม นปช. ได้จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีกนอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1- 15 และจำเลยที่ 18- 24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

โดยคดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. จำเลยที่ 1 , นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ ที่ 2 , นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช. และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ 3

กลุ่มแกนนำ-แนวร่วม นปช นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ทษช. ที่ 4 , นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี อดีตสมาชิกพรรค ทษช. ที่ 5 , นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 67 ปี ที่ 6 , นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี ที่ 7 , นายนิสิต สินธุไพร อายุ 63 ปี อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ที่ 8 , นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อายุ 52 ปี ส.ส.เพื่อไทย ที่ 9 , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 68 ปี ที่ 10 , นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง อายุ 59 ปี อดีตลูกน้อง คนสนิทพล.ต.ขัตติยะ หรือเสธ.แดง สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ 11, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 43 ปี ที่ 12 , นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 48 ปี การ์ด นปช. ที่13 , นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 63 ปี ที่ 14 , นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 46 ปี หัวหน้าการ์ด นปช. ที่ 15 , นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 57 ปี ที่ 16 , นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 34 ปี อดีตคนสนิท เสธ.แดง ที่ 17 , นายรชต หรือกบ วงค์ยอด อายุ 38 ปี ที่ 18 , นายยงยุทธ ท้วมมี อายุ 63 ปี แนวร่วม นปช. ที่19

นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 58 ปี หัวหน้าการ์ด นปช.อดีตลูกน้องคนสนิท เสธ.แดง ที่ 20 , นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 38 ปี อดีตคนสนิท เสธ.แดง ที่ 21 , นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม ที่ 22 , นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง อายุ 58 ปี กลุ่มการ์ด นปช.ที่ 23 , นายอริสมันต์ หรือกี้ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี แกนนำ นปช. ที่ 24

ในความผิด 6 ข้อหา ฐานร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 , ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ตาม ม.135/2 , ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ ม.116 , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ ม.215 , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก ม.216 ,ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาขณะที่จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

สำหรับคดีนี้อัยการทยอยยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช. เป็นชุดๆ 4 สำนวน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2553 เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 , อ.4339/2553 , อ.757/2554 , อ.4958/2554 จนครบ 24 คน และมีการรวมพิจารณาคดีเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคล มานานร่วม 9 ปี โดยระหว่างการสืบพยานศาลจะพิจารณานัดพร้อมเป็นระยะๆ เพื่อร่วมคู่ความกำหนดกรอบประเด็นสืบและระยะเวลาสืบพยานเนื่องจากทั้งโจทก์-จำเลย ต่างเสนอขอสืบพยานนับร้อยปาก โดยทำการสืบพยานต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2555 และเริ่มสืบพยานจำเลยปี 2562 กระทั่งได้นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ (14 ส.ค.2562)

โดยฟ้องของโจทก์ ระบุพฤติการณ์กล่าวหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค.2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวก ร่วมกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งถึงแก่ความตาย โดยนายวีระกานต์ จำเลยที่ 1-ที่ 11 ซึ่งเป็นแกนนำ นปช. (กลุ่มคนใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์) ได้ยุยงปลุกปั่นประชนทั่วราชอาณาจักรไทย ให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ "นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่านายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ , ฝั่ง ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัว ถึงสี่แยกมิสกวัน , ฝั่ง ถ.พิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชษฐ ถึงสี่แยกวังแดง และบริเวณแยกราชประสงค์ และยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆด้วย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , อาคารรัฐสภา , กรมทหารราบที่ 22 และบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ นายกฯ (ย่านสุขุมวิท) โดยมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชนด้วย

นอกจากนี้จำเลยกับพวก ยังได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธใช้ชื่อ "กลุ่มนักรบพระเจ้าตาก" , "กลุ่มนักรบโรนิน" , "กลุ่มนักรบพระองค์ดำ" เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนใน กทม. แบบดาวกระจาย เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต-ร่างกาย-ทรัพย์สิน และยังขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ซึ่งพวกจำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุม ยังได้ใช้เลือดจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล , หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักนายกรัฐมนตรี กับมีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กองรักษาการณ์ของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ , กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม. กับยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) มีทหารได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงใส่กระทรวงกลาโหม , ขว้างระเบิดใส่กรมบังคับคดี และอาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ , ยิงปืนใส่ธนาคารกรุงเทพ , ขว้างระเบิดใส่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการต่างๆ

อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและผู้อื่น เพื่อบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยกับพวกในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงรัฐบาลดังกล่าวไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกีดกั้นกีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ที่สำคัญเกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ม.34 , 36

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 "นายอภิสิทธิ์" นายกฯ ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ม.5 ,11 โดยความเห็นชอบของ ครม. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม , ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ โดยห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุมเกิน 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการอันใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือ กีดขวางการจราจร ปิดทางเข้าออกอาคารหรือสถานที่ ที่จะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงาน หรือประกอบกิจการหรือการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป , ห้ามประทุษร้ายหรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน

โดยจำเลยกับพวก รู้อยู่แล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรม ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ทำการรัฐสภาทำร้ายร่างกายทหาร แย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ไป 1 กระบอก , บุกรุกไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กระทั่งวันที่ 10 เม.ย.2553 จำเลยกับพวก และผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฎิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ โดยมีการใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม , ระเบิดขว้าง , เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อต้องการให้ไฟฟ้าดับทั่ว กทม. อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

ต่อมาวันที่ 14 เม.ย.2553 จำเลยกับพวก ยังได้ไปร่วมตัวชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปิดเส้นทางการจราจร , สร้างเครื่องกีดขวางรอบพื้นที่ชุมนุม โดยดัดแปลงใช้ไม้ไผ่ ไม้ปลายแหลม ยางรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกศาลาแดง , แยกหลังสวน , แยกเพลินจิต , แยกชิดลม , แยกประตูน้ำ , แยกปทุมวัน , แยกเฉลิมเผ่า มีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาสีลม และสาขาอื่นๆ กับสถานที่ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจ โดยวันที่ 28 เม.ย. จำเลยกับพวก ได้ยุยงให้ผู้ชุมนุมไปที่ตลาดไท และได้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน และสนามบินดอนเมือง มีการใช้อาวุธยิงทหารเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 2 คน และยังมีผู้อื่นบาดเจ็บอีก 16 คน นอกจากนี้ในต่างจังหวัดก็ได้ทำการปิดถนน ตั้งด่านตรวจพาหนะ , บังคับให้ขบวนรถไฟที่บรรทุกยุทธภัณฑ์ทางทหารไม่ให้เดินทางต่อ

จากนั้นวันที่ 29 เม.ย.2562 จำเลยกับพวกยังได้นำผู้ชุมนุม 200 คน ไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อ้างว่ามีทหารแอบซ่อนตัวอยู่ ทำให้แพทย์ พยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ซึ่งนอกจากการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังก่อให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดการเข้าใจผิดเพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

จนเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.2553 รัฐบาลได้ดำเนินการกระชับพื้นที่และกดดัน ให้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกมีการสะสมกำลังพลและมีอาวุธสงครามร้ายแรงต่อสู้ขัดขวาง ใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน และวางเพลิง