สื่อนอกชี้ คนจนไทย คือเหยื่ออุบัติเหตุบนท้องถนน

by ThaiQuote, 22 สิงหาคม 2562

The New York Times วิเคราะห์ประเทศไทย เผย ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ชี้ คนจนไทยเสี่ยงตายบนถนน

วันที่ 19 ส.ค.62 The New York Times ได้นำเสนอบทความชื่อ Thailand’s Roads Are Deadly. Especially if You’re Poor. หรือ “ถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนจน”

โดยเนื้อหาของบทความกล่าวถึงเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ละเลยต่อมาตรฐานความปลอดภัยของคนไทย

 

 

 

โดยประเด็นที่น่าสนใจจากบทความดังกล่าว พอจะสรุปได้ดังนี้

ไทยที่ 1 ของโลก เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บนท้องถนน

รายงานประจำปี พ.ศ. 2558 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อจำนวนประชากร สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจาก “ลิเบีย” ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่ถ้านับเฉพาะอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์แล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่หนึ่งของโลก

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ

ประเทศไทยมีโครงข่ายถนนราดยางสภาพดีที่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง ผู้มีฐานะและชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นในสังคมใช้มักจะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งมีสมรรถนะสูง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เพียงคันเดียวต่อครอบครัวเท่านั้น ขณะอุบัติเหตุบนทางหลวงมักเกิดจากการที่รถยนต์ SUV ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์

ระบบขนส่งมวลชนไม่ทั่วถึง

เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงบริเวณชานเมือง ภาพของครอบครัวซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาคันเดียวโดยมีพ่อเป็นคนขับ แม่ซ้อน พร้อมด้วยลูกเล็กๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อมีอุบัติเหตุ อาจทำให้มีการเสียชีวิตหลายศพตามมาได้

 

การออกแบบถนนและทางเท้าที่ไม่เหมาะสม

นักวิเคราะห์ระบุว่า ทางเท้าตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย กว้าง และมีสภาพที่ใช้งานได้ไม่มาก เพราะเมื่อกว้าง ก็มักจะมีการตั้งหาบเร่แผงลอย หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ก็ขึ้นมาขับบนทางเท้า ทำให้ประชาชนต้องลงไปเดินบนถนนแทนและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งทางเท้ายังถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับคนมีฐานะ ซึ่งส่วนมากแล้วไม่เดินในอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบเมืองไทย

รวยแล้วรอด

กฎจราจรไม่สามารถใช้ควบคุมเหล่าบรรดามหาเศรษฐีหรือผู้ที่มีตำแหน่งหน้าตาในสังคมได้ พวกเขาเหล่านั้นสามารถขับรถเร็วกว่ากฎหมาย กำหนดโดยไม่ต้องได้รับการลงโทษ หรือดื่มจนมึนเมาก่อนขับรถโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ยกตัวอย่างเช่น ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจ โดยมีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกฎหมายกำหนด แต่เรื่องผ่านมา 7 ปี ก็ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด


คอร์รัปชัน/ ติดสินบน

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายไว้เพื่อควบคุมสาเหตุหลักของการเสียชีวิต แต่กลับไม่มีการบังคับใช้จริงจัง นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชัน ประชาชนยอมจ่ายเงินเล็กน้อยเพื่อติดสินบนให้รอดจากการโดนจับกุมเจากการทำผิดกฎจราจร ซึ่งเป็นการจ่ายน้อยกว่าค่าปรับตามจริงในระบบ ทั้งนี้ สอดคล้องกับการที่ตำรวจจราจรที่มีเงินเดือนไม่มาก และต้องทำงานกลางแดดร้อน เปียกฝน หรือทนฝุ่นควันพิษ การได้รับเงินสินบนจึงเป็นสิ่งดึงดูดใจ

สบายๆ สไตล์คนไทย

เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเปิดเผยว่า เพราะคนไทยติดกับนิสัยสบายๆ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ส่งเสริมมาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่นการไม่ใส่ใจเรื่องการเมาแล้วขับรถ ไม่เห็นความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนเรื่องของหมวกนิรภัย ทั้งเรื่องประเภทของหมวก คุณภาพ ตลอดจนวิธีการสวมใส่ที่ถูกต้อง

ที่มา : The New York Times

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
กทม.โว 4 วัน จับ-ปรับ จยย.ขึ้นทางเท้าพบคนทำผิดลดลงต่อเนื่อ