มติเอกฉันท์ ศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ปมนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบ

by ThaiQuote, 11 กันยายน 2562

ศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ปมนายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ระบุว่าการถวายสัตย์ฯ ต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ


สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่าตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่นั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1) โดยระบุว่าการถวายสัตย์ฯ ต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ ได้ยื่นคำร้อง และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (11) และมาตรา 46 ก็ตาม

แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า "การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล" และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา"

เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (ACT of Government) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม

ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

และต่อมา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้นเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่ ไว้พิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กระทำการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทำการล้มล้างกรปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แต่อย่างใด

กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้


 

 


ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผู้ตรวจการฯ มีมติส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปม “บิ๊กตู่” ถวายสัตย์ไม่ครบ