“ไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร” หมากกลยุทธ์พิชิตจีน ในสงครามการค้า

by ThaiQuote, 21 กันยายน 2562

จากกรณี ที่ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (Michael George DeSombre) ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ให้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ และจะเข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการหลังจากที่วุฒิสภาอเมริกันลงมติรับรองแล้ว

ทั้งนี้ จากประวัติของนายดีซอมเบร ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทกฏหมายชื่อดัง ซูลลิแวน แอนด์ ครอมเวลล์ (Sullivan & Cromwell, LLP) ที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายด้านการควบรวมและซื้อกิจการ ข้อตกลงภาคเอกชน และการร่วมทุนของภาคธุรกิจ และยังรวมถึงการลงทุนทางตรงในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาศัยอยู่ในฮ่องกงเป็นเวลากว่า 20 ปี ร่วมถึง

ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้ให้เหตุผลในการเสนอชื่อดังกล่าว ว่า นายดีซอมเบร มีความสามารถในการเจรจาต่อรองกับประเทศจีนและประเทศในเอเชีย รวมถึงการที่เขารู้จักผู้คนมากมายในภูมิภาคนี้ มีทักษะด้านกฏหมาย ด้านการเงิน และด้านนโยบายระดับประเทศ รวมถึงการที่สามารถภาษาจีนกลางได้อีกด้วย

แต่เหตุผลโดยเผยแพร่จากกระทรวงการต่างประเทศ อาจบอกกล่าวถึงข้อมูลทั่วไป โดยมีเหตุผลสำคัญของการแต่งตั้งนายดีซอมเบร คือ การดูแลผลประโยชน์ และการเดินเกมตามยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ผศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวกับ ThaiQuote ว่า เรื่องของการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐอเมิรกา ที่ต้องการช่วงชิงบทบาทประเทศมหาอำนวจในภูมิภาคเอเชีย ตามแผน Indo-Pacific strategy Report ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.62 ที่ผ่านมา

เพื่อจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific (FOIP) โดยมีการพูดถึงกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไว้ 4 กลุ่ม โดยระบุกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด 5 ประเทศแรก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ด้วยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ภายใต้การบัญชาการของ ทรัมป์ หรือประธานาธิบดีคนอื่นๆ ในอนาคต คือการปิดล้อม จำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน

“สหรัฐฯ มองว่าเวลานี้การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจกำลังกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับในสมัยของการทำสงครามเย็นกับโซเวียต เป็น National strategy ซึ่งจะต้องมองถึงรูปแบบการปิดล้อมว่าสหรัฐฯจะดำเนินการอย่างไร

ซึ่งในอดีต บารัก โอบามา ใช้วิธีการของข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ควบคู่กับ Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนภาคพื้นแอตแลนติก โดยกีดกันจีนออกไปด้วยการวางกฎระเบียบ นักธุรกิจอย่างทรัมป์ จะเห็นว่าไม่ชอบวิธีการนี้เนื่องจากมองว่าเป็นการเสียเวลา จึงดำเนินการด้วยวิธีการแบบสงครามการค้าที่โจมตีกันด้วย แล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทีหลัง

ซึ่งจะเห็นว่า ทรัมป์ ออกมาตรการมาโจมตีจีน เพื่อหวังเรียกคะแนน อย่างเรื่องของกำแพงภาษี ควรจะต้องขึ้นภาษีในวันที่ 1 ต.ค.62 แต่ตรงกับวันชาติจีน ซึ่งจะดูไม่ดีในสายตาชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ทรัมป์จึงขยับมาเป็นวันที่ 1 ธ.ค.62 แทน”

นอกจากนี้ อ.ปิติ ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงบทบาทของประเทศไทยต่อจากนี้ว่า เราเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไหนในมิติใด ซึ่งความสัมพันธ์กับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นมีหลากหลายมิติ บทบาทนี้จึงต้องดำเนินการโดยใช้เวทีอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ”

ต่อประเด็นทีว่าทำไมเราจึงต้องใช้เวทีอาเซียนเพื่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อ.ปิติ กล่าวว่า เวทีอาเซียน เมื่อมีการรวมตัวเป็หนึ่งเดียวแล้ว เราจะกลายเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจขนาดกลาง ซึ่งมีอำนาจในการเจรจาต่อรองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะต้องกำหนดบทบาทของประเทศบนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ที่จะมีขึ้นในต้นเดือน พ.ย.นี้

ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องของการมองว่า "เวียดนาม" เป็นคู่แข่งของประเทศไทย นั้น อ.ปิติ ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า เราไม่ควรมองว่าใครคือคู่แข่ง เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย หรือผลประโยชน์ของอาเซียน ก็ไม่ควรมองว่าประเทศในอาเซียนด้วยกันเป็นคู่แข่ง เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุประโยชน์ร่วมกันได้

"เพราะฉะนั้นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และภูมิภาคให้เป็นในทิศทางเดียวกันจึงต้องควบคู่กันไป แม้ในบางเรื่องอาเซียนได้ประโยชน์มากกว่าประเทศได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องถือเป็นประโยชน์ร่วมกัน” อ.ปิติ กล่าว