กคช. ร่วมเปิดมุมมองบ้านสีเขียว เพื่อผู้มีรายได้น้อย

by ThaiQuote, 20 ตุลาคม 2560

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงผลสรุปภาพรวมของการเสวนา “แนวทาง การพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ในโอกาสวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2560 (World Habitat Day 2017) ว่า ควรดำเนินการแก้ไขข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ด้านนโยบาย ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานให้กับประชาชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกที่อยู่อาศัยและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกแบบบ้านที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการถ่ายเทความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถป้องกันความร้อนและความชื้นได้ดี รวมถึงการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุพื้นถิ่นให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน หรือยืดอายุการใช้งาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานบ้านเขียว และจัดทำฉลากบ้านเขียวอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำหลักเกณฑ์การประเมินบ้านเขียวมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการของภาครัฐในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการบ้านเบอร์ 5 โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการชุมชนน่าอยู่ น่าสบายอย่างยั่งยืน (Eco Village) และโครงการ “บ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น” เป็นต้น ด้านกฎระเบียบและเทคโนโลยี ควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเกณฑ์ Building Energy Code (เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน) ไปใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน การอนุรักษ์พลังงานในอาคาร โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคาร รวมถึงสนับสนุนให้ใช้เกณฑ์ Eco - Village (เกณฑ์ประเมินโครงการน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย) มาใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย อีกทั้งกำหนดโซนของผู้อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสำหรับรองรับประชาชนทุกระดับรายได้ เพื่อลดการใช้พลังงานในการเดินทาง และควรปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อ - จัดจ้างวัสดุที่ประหยัดพลังงานให้มีความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเลือกใช้งาน ตลอดจนปรับปรุงระเบียบหรือข้อกฎหมายในการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสม ที่จะส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านกลไกทางการเงิน เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนและผู้ซื้อ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการทางภาษี ทั้งนี้ การสร้างที่อยู่อาศัยสีเขียวควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรมและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐต้องทำให้เกิดตลาด Mass product เพื่อให้เกิดความต้องการ (demand) ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลไกภาคการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาลดลง

Tag :