จ่อยื่น ครม.ไฟเขียว มาบตาพุด เฟส 3 ร่วมทุน “กัลฟ์-พีทีที”

by ThaiQuote, 1 ตุลาคม 2562

กนอ.เผยท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 จ่อครม.ไฟเขียว 1 ต.ค.นี้ พร้อมจรดปากกาสัญญาร่วมทุน บริษัทร่วมค้ากัลฟ์-พีทีที แทงค์

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) NET Cost ได้ข้อยุติการเจรจาเงื่อนไขในสัญญาการเข้าร่วมลงทุนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ของกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กนอ.ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (1 ตุลาคม 2562) เพื่อพิจาณาเห็นชอบและอนุมัติในการดำเนินโครงการเพื่อจะนำไปสู่การลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง กนอ. และ บริษัทร่วมค้าฯ ในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่1) มีมูลค่าการลงทุน 45,480 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี ใน โดยหลังจากที่ครม.อนุมัติ กนอ.จะมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อจัดพื้นที่ส่งมอบให้กับบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการออกแบบรายละเอียดการพัฒนาในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ infrastructure โดยทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการนักลงทุนได้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี

ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนโดยมีจำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กนอ. ผู้แทนจาก สกพอ. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเป็น 1 ใน 5 EEC Project List ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป และเป็นส่วนสำคัญสำหรับการนำเข้า - ส่งออกขนถ่ายสินค้ารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกันประมาณ 2,200 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายกลุ่มสินค้าของเหลว และกลุ่มสินค้าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง S-Curve และ New S-Curve ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจและมิติสังคมก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งผลต่อภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เตรียมเปิดใช้ปี’ 63 มอเตอร์เวย์ “กรุงเทพ-มาบตาพุด”