ดร.ธรณ์ ชี้ “ไต้ฝุ่นฮากิบิส” ผลพวงจากภาวะโลกร้อน

by ThaiQuote, 15 ตุลาคม 2562

โลกเกรี้ยวกราด!! ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุ “พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส” คือผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ชี้ น้ำเย็นเป็นตัวช่วยลดความรุนแรงของไต้ฝุ่น เมื่อโลกร้อน ทะเลก็ร้อนตาม ไต้ฝุ่นจึงบังเกิด

วันที่ 14 ต.ค.62 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม แชร์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” โดยกล่าวถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า “พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส” คือผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ซึ่งซูเปอร์ไต้ฝุ่นเริ่มเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี

โดยโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

“ถึงตอนนี้ มีผู้เสียชีวิตเพราะไต้ฝุ่นในญี่ปุ่น 40 ราย ผู้สูญหาย 16 ราย ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีกมหาศาล ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่สุดในการรับมือกับภัยพิบัติเช่นนี้

นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อโลกเกรี้ยวกราดขึ้น จะรับมืออย่างไรก็แสนสาหัส จึงจะมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังว่า #ไต้ฝุ่นกับโลกร้อนเกี่ยวกันอย่างไร

ไต้ฝุ่น เฮอริเคน ไซโคลน เป็นพายุหมุนเขตร้อนเหมือนกัน แค่ชื่อแตกต่างกันตามสถานที่

พายุพวกนี้จะเกิดในทะเลเท่านั้น ก่อนจะเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางต่างๆ

ปัจจัยสำคัญคืออากาศร้อนที่ผิวหน้าทะเล ลอยขึ้นมาเติมพลังให้ไต้ฝุ่น

ในทางตรงข้าม น้ำเย็นจะเป็นตัวช่วยลดความรุนแรงของไต้ฝุ่น

ทะเลเป็นกลไกหลักของโลกในการดูดซับความร้อน

เมื่อโลกร้อนขึ้นเพราะก๊าซเรือนกระจก ทะเลก็ร้อนขึ้น โดยเฉพาะผิวหน้าน้ำทะเล

เมื่อน้ำร้อน กลไกน้ำเย็นย่อมน้อยลง ทำให้ไม่มีตัวขัดขวางไต้ฝุ่น

เธอจึงยิ่งพัดแรงขึ้น...แรงขึ้น

โลกร้อน...น้ำร้อน เติมพลัง...ไม่มีตัวขัดขวาง

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตั้งแต่ ค.ศ.1970 ไต้ฝุ่นที่มีระดับความรุนแรงสูง เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าอดีต

ว่าง่ายๆ คือซูเปอร์ไต้ฝุ่นเกิดแบบถี่ขึ้นเรื่อยๆ

จนเกิดขึ้นทุกปี กลายเป็นข่าวตรงนั้นตรงนี้ทั่วโลก

นอกจากนี้ เมื่อทะเลร้อนขึ้น ไอน้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนยังเก็บไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น

ไต้ฝุ่นจึงขนน้ำจากทะเลมาเพียบ ขนาดพายุอ้วนเป่ง เต็มไปด้วยน้ำจากทะเลที่พร้อมเทโครมลงแผ่นดิน

ผลกระทบสาหัสของไต้ฝุ่นในญี่ปุ่น ไม่ใช่ลมแรงเหมือนที่เราคิดกัน แต่เป็นน้ำท่วมจากฝนมหาศาลที่ไต้ฝุ่นพาไอน้ำมาจากทะเล

หลายแห่งในภาคเหนือของเกาะฮอนชู ฝนที่ตกลงมาในช่วง 2 วัน มากเท่ากับปริมาณน้ำฝน 40% ของที่ควรจะตกทั้งปี

ไม่มีระบบใดจากเทคโนโลยีใดของมนุษย์จะต้านทานฝนในระดับนั้นไหว

ไม่มีวินัยและความเป็นระเบียบของชนชาติใดจะเอาอยู่

ทั้งหมดที่ญี่ปุ่นทำได้คือลดความเสียหายลงให้มากที่สุด ซึ่งก็ทำสำเร็จ

แต่หลายสิบชีวิตจากไป เมืองจมอยู่ใต้น้ำ ชินคันเซน 10 ขบวนโดนท่วม น้ำบางแห่งท่วมสูงเกิน 4 เมตร

ยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินไม่ได้ เมื่อประเทศต้องหยุดนิ่ง 3 วัน รวมถึงการฟื้นฟูที่ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่

ขณะที่ฝนก็กำลังเริ่มตกลงมาใหม่ ฟ้าใสหลังพายุแค่ไม่นาน

ทั้งหมดนั้นคือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นผลที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลก และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ไต้ฝุ่น พายุหมุนเขตร้อน เช่น พายุโซนร้อน ก็สามารถนำน้ำมหาศาลจากทะเล มาตกกระหน่ำเป็นฝน ในหลักการเช่นเดียวกัน

ไทยเราก็เจอปาบึกเมื่อต้นปี ตามด้วยน้ำท่วมที่อีสาน ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนยังเป็นกังวลเรื่องภัยแล้ง

นั่นคือสภาพภูมิอากาศแบบสุดขีดขั้ว ที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล ต่อเนื่องถึงภาวะโลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์

เราต้องปรับตัว เราต้องรับมือ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และต้องทำแน่นอน

แต่ตัวอย่างที่ญี่ปุ่นแสดงให้เห็นแล้วว่า ปรับ/รับแค่ไหน ก็ทำได้เท่านี้

หากโลกโกรธมากขึ้นกว่านี้ เราจะทำอย่างไร ?

คำถามนี้ตอบแสนง่าย เราต้องช่วยทำไม่ให้โลกโกรธ ช่วยลดโลกร้อนเต็มกำลัง

คำถามนี้ทำแสนยาก เพราะเราเคยชินกับวิถีเดิม เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ในระยะเวลาอันสั้น

เรายังหวังพึ่งแนวคิดและนโยบายที่เกาะติดกับชีวิตเดิมๆ ขณะที่โลกเปลี่ยนไปเร็วกว่า

Rigth Here, Right Now คือเสียงที่เกรตาและคนกลุ่มหนึ่งพยายามร้องบอกคนทั้งโลก

ผมเชื่อว่าหลายคนฟัง แต่จะทำหรือไม่ ทำแค่ไหน ทำทันหรือเปล่า นั่นเป็นคำถาม ?

ผมตอบไม่ได้หรอกครับ ที่ทำได้คือพยายามนำสิ่งที่เกิดขึ้น มาบอกเล่าให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ

เรากำลังใกล้ถึงยุคที่เรื่องอื่นใดก็ไร้ความหมาย

ยุคที่โลกโกรธเกรี้ยวถึงขีดสุด เพราะมนุษย์ไม่เคยเกรงใจธรรมชาติ ไม่เคยคิดว่าอีก 20-30 ปีต่อจากนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร ?

ลูกหลานเราเรียนเก่งทำงานดีแค่ไหน ก็ต้องวิ่งหนีตายจากน้ำท่วม/ดินถล่ม/คลื่นยักษ์ พยายามเอาตัวรอดจากมหาวาตภัย

ดิ้นรนกันไป ในยุคที่โลกเกลียดเรา...

ภาพ/ข้อมูลญี่ปุน - NHK
ขอแสดงความเสียใจกับชาวญี่ปุ่นครับ”

 


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ดร.ธรณ์ ชี้ “ปะการังหลีเป๊ะ” ยับเยิน! เพราะน้ำมือมนุษย์