สรส.เตือนรัฐบาลและประชาชนอย่าตระหนกเรื่องตัด GSP

by ThaiQuote, 30 ตุลาคม 2562

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการ กรณีสหรัฐตัดจีเอสพี สินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่าไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากล โดยขอให้คนไทยอย่าตระหนก และร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง

จากที่สหรัฐอเมริกาประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี (GSP) กับสินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่าไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากลสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)เรียกร้องทุกฝ่ายไม่ให้ตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว แต่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า

ถึงรัฐบาล พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน และ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ
เรื่อง อย่าตื่นตระหนก!..สหรัฐอเมริกาตัด GSP ประเทศไทย แต่..ต้องเร่งแก้ไข

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระงับระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่า ไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากล โดยสิทธิ GSP นี้ ถือเป็นการให้ฝ่ายเดียว (unilateral) โดยประเทศที่ให้สิทธิ GSP นั้น ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่การให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ประเทศผู้รับจะต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนด เช่น ในกรณีของสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ จะมอบให้กับประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNP) ไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น โดยล่าสุดในปี 2018 ของไทยอยู่ที่ประมาณ 7,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังเข้าเงื่อนไขดังกล่าวนี้ในการรับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ นอกจากนี้ สำหรับการรับสิทธิจากสหรัฐฯ ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ กำหนดไว้อีก เช่น จะต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ มีการคุ้มครองแรงงานในระดับที่นานาชาติยอมรับ มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล รวมถึงหากเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายสากล ก็จะต้องเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย

ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยส่งสัญญาณและเตือนประเทศไทยเกี่ยวกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์และจัดลำดับให้ประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง(Tier 2 Watch List) ตกชั้นไปอยู่ในระดับ Tier 3 ในปี 2559 หมายถึง เป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต่อมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 ขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ในปี 2560 และในปี 2561 เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 หลังจากประเทศไทยได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างจริงจัง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิอันเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing การขึ้นทะเบียนแรงงานและเรือประมง มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย ครอบคลุมและตรงต่อการแก้ปัญหามีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ดำเนินคดีการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดระยะเวลาดำเนินคดีจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ

เช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยหรือ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และคนงานภาคการประมงไร้สิทธิการคุ้มครองทางกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สหภาพยุโรปกำหนดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (possibility of identifying as non-cooperating country) ภายใต้กฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป ซึ่งใบเหลืองถือเป็นเพียงการประกาศเตือนในเบื้องต้น แต่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาและแก้ไขปรับปรุงได้ แต่หลังจากประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังทั้งเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ามนุษย์ จนในที่สุดสหภาพยุโรปก็ยกเลิกการให้ใบเหลือง (IUU Fishing) กับประเทศไทย กลับสู่ภาวะปกติ

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ก็อย่าตระหนกตกใจ ตีโพยตีพายเกินเหตุสิ่งที่สำคัญคือต้องใช้สติใช้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากภาคีหลายฝ่ายในประเทศเช่นก่อนนี้ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนได้ผนึกกำลังบูรณาการกันทำงาน จนสามารถก้าวพ้นจุดวิกฤติมาได้ การที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP ประเทศไทยในครั้งนี้นั้น ได้รับการยืนยันจากสหรัฐอเมริกาและกระทรวงพาณิชย์ของไทยแล้วว่า “เกี่ยวข้องกับประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นอื่น” จึงไม่ควรนำไปผูกโยงจนเกิดความไขว้เขวเพราะจะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกทาง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ต้องยอมรับความจริง การที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรแก่ประเทศไทยนั้นเขาคงมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ เพราะกระบวนการข่าวกรองของเขาก็เป็นที่ทราบกันว่าลึกล้ำแค่ไหนและที่สำคัญเมื่อเราต้องการค้าขายกับเขา และเขาเป็นเจ้าของตลาด เราจึงจำเป็นต้องแก้ไขจุดบกพร่องของเราเพื่อได้สิทธินั้นกลับคืนมา และความจริงอีกประการหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ สถานการณ์แรงงานในประเทศไทย อยู่ในสภาวะที่น่าห่วงใย ทั้งเรื่องสิทธิ โอกาส คุณภาพชีวิต และความมั่นคงในการทำงาน กล่าวคือ ประชากรในวัยทำงานในขณะนี้ประมาณ 40 ล้านคน แต่มีสถานะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 600,000 คนเท่านั้น เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการรวมตัว ล้าหลังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับที่จำแนกแยกคนงานออกจากกันทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน คนทำงานบ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีการทำลายผู้นำแรงงาน ทำลายสหภาพแรงงาน เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 13 คนที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างมั่นใจ ปลอดภัย เมื่อปี 2552 หลังรถไฟประสบอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่าอันเนื่องมาจากอุปกรณ์ของรถจักรไม่สมบูรณ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บนับร้อยแต่ผู้นำสหภาพกลับถูกเลิกจ้างแม้การเจรจาภายในจะจบลงด้วยการรับกลับเข้าทำงานโดยไม่มีความผิดแต่ถูกการรถไฟฯ เรียกร้องค่าเสียในมูลค่าที่สูงและได้อายัดเงินจนแทบไม่มีเหลือให้ยังชีพ และการรถไฟฯ ร้องเรียนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ ทำให้รัฐเสียหาย ทุจริตประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและอยู่ระหว่างดำเนินคดีทางศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ที่ถูกบริษัทกล่าวหาทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 326 ล้านบาท เพียงเพราะสหภาพเข้าไปเจรจาหาข้อยุติกรณีที่พนักงานได้ประท้วงเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง กรณีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ที่บริษัทได้สั่งปิดงาน เลิกจ้างแกนนำสหภาพเพียงเพราะสหภาพได้พยายามทำหน้าที่ยื่นข้อเรียกร้องปกป้องสิทธิ ให้แก่สมาชิก บีบบังคับให้ไปทำกิจกรรมอบรมนิสัย และเขียนจดหมายขอโทษต่อบริษัทในสิ่งที่ทำไปร่วมกับสหภาพ เป็นต้น

ในส่วนข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาได้ ดังที่เห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้ กรณีลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมารายวันนอกงบประมาณในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงาน แม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่น้อย ก็ยังถูกกีดกัน ถูกเอาเปรียบและไม่สามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้ ซึ่งโดยหลักการทางสากลสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ (ILO) โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการสมาคม รวมกลุ่ม และฉบับที่ 98 ว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่รับรอง

ในเรื่องโอกาสและคุณภาพชีวิต คนงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขการทำงาน การจ้างงาน เป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานภาคบริการ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน คนงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง นักศึกษาฝึกงาน การจ้างงานแยกย่อยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนงานไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ แม้บางส่วนจะเข้าถึงได้แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากด้วยเงื่อนไขที่มากมาย ซ้ำค่าจ้างที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานก็ต่ำ ไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นไปตามหลักกติกาสากล จนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

ส่วนเรื่องความมั่นคงในการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ล้วนแต่มีการจ้างงานตามสัญญาจ้าง ระยะสั้น หลากหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาที่ได้แพร่ระบาด ทั้งในภาครัฐ เอกชน คนงานหวาดผวากับความเสี่ยงในเรื่องการตกงาน ว่างงาน เกิด
ภาวะหนี้สินทั้งส่วนตัวและครัวเรือนสูง เป็นเหตุให้ความเหลื่อมล้ำในทุกด้านสูงเป็นลำดับต้นของโลก คนงานไม่สามารถวางแผนชีวิตอนาคตในการสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นคงให้ตนเองและครอบครัวได้ ยิ่งในยุคการจ้างงานที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี แขนกล หุ่นยนต์ ระบบ Automation ระบบ AI ที่จะมาทำงานแทนคน ในขณะที่มาตรการรองรับทางสังคมแทบจะไม่มี

สิ่งที่กล่าวมา ล้วนแต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเขาอ้างเหตุเรื่องมาตรฐานแรงงานที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล การแสวงหาความจริงและการร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าพยายามบิดเบือนประเด็นให้บิดเบี้ยว แต่ควรต้องเร่งแก้ไข และใช่ว่าเขาจะตัดสิทธิในทันทีทันใดเขาให้เวลาถึง 6 เดือน ที่ประกาศออกมาเป็นเพียงสัญญาณเตือน ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าเขาเป็นเจ้าของตลาดเราเป็นผู้นำสินค้าไปขายในตลาดของเขา เราก็จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตลาดของเขา เว้นไว้แต่ว่าเราไม่ต้องการค้าขายกับเขา เราก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายุโรปและทั่วทุกภูมิภาคของโลกโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable-Development-Goals-SDGs) 17 ด้าน ได้กำหนดเรื่องธุรกิจการค้าทุกระดับต้องยึดถือเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิแรงงานเป็นสำคัญและได้กำหนดงานที่มีคุณค่าไว้ใน SDGs ลำดับที่ 8 แม้กระทั่งล่าสุดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 190 ว่าด้วย “การขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน” ที่ออกในวาระครบรอบ 100 ปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการ Future of Works ก็ล้วนบัญญัติในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนที่ไปผูกโยงเรื่องการค้าทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจากกรณี
ที่สหรัฐอเมริกาแล้วจะมีประเทศไหนจะประกาศอีก เพราะเรื่องให้สิทธิ GSP มิได้มีเพียงประเทศเดียวยังมีประเทศอื่นที่ให้สิทธิแก่ไทย เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหภาพยุโรป ตุรกี แคนาดา รวมไปถึงรัสเซียและเครือรัฐเอกราช

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้รีบเร่งแก้ไขปัญหาดังเช่นกรณีก่อนหน้านี้ที่สามารถก้าวผ่านวิกฤติมาได้ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่ง สรส. ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สภาองค์การลูกจ้าง นายจ้าง กระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป OECD ในโครงการต่าง ๆ เช่น GLP (Good Labour Practices) / Ship to Shore Rights / โครงการ “งานที่มีคุณค่าเพื่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Supply Chains) / แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Country Program: DWCP)เป็นต้น และที่สำคัญอย่าตีโจทย์แตกประเด็นให้สับสน และ สรส. พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
29 ตุลาคม 2562

 

 

 

 

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ทรัมป์ อ้างสิทธิแรงงาน ตัดจีเอสพีไทย มูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์