ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่อเนื่อง 8 เดือน

by ThaiQuote, 7 พฤศจิกายน 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2562 ตกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยลบอื่นๆ รุมเล้ามากกว่า ตั้งแต่ปัญหาส่งออก สงครามการค้า Brexit GSP และปัญหาการเมืองไทย

วันนี้ (7 พ.ย. 62) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจแสดงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2562 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการตกลงมาเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ส่งผลในทางดี ในขณะที่ความกังวลของผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ยังไม่นับเศรษฐกิจโลกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และปัญหา Brexit และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังไม่นับรวมที่สหรัฐตัด GSP ไทยในสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวน 573 รายการ

จากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 57.9 67.0 และ 87.3 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 59.3 68.5 และ 88.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 65 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นมา จากระดับ 72.2 มาอยู่ที่ระดับ 70.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก

ผู้บริโภคมองว่าแม้มีการเติบโตอยู่บ้าง แต่สภาวะทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงละความผันผวนสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 47.9 มาอยู่ที่ระดับ 46.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 217 เดือนหรือ 18 ปี 1 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 82.9 มาอยู่ที่ระดับ 81.3 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคตหากไม่มีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากไปกว่าปัจจุบัน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เปิดตัว “ร้านไทย” บนเว็บ Tmall Global ช่วยดันสินค้าเจาะตลาดออนไลน์จีน