"อุตตม" คาดลงทุน"อีอีซี" ทะลุแสนล้านปี' 62

by ThaiQuote, 19 พฤศจิกายน 2562

"อุตตม" เผยความคืบหน้า อีอีซี โอนย้ายสาธารณูปโภค รองรับรถไฟฟ้า 3 สนามบิน จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจีโนมิกส์ เล็งตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ คาดยอดลงทุนปลายปี62 พุ่งแตะแสนล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความคืบหน้าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า

"มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งผมเป็นประธานฯ และมีท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายงานที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ

1. รายงานผลการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ณ วันที่ 13 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว เช่น การเวนคืน การโยกย้ายผู้บุกรุก การรื้อย้ายสาธารณูปโภค การก่อสร้างทดแทน ช่วงดอนเมือง – พญาไท และลาดกระบัง - อู่ตะเภา เป็นต้น

2. การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และสร้างความรู้ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ในโครงการนี้ประมาณ 3.8 ไร่ เป็นอาคารรวม 12 ชั้น ขนาดประมาณ 24,000 ตร.ม. แต่จะมีการลงทุนในระยะแรกประมาณ 1,700 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนเครื่องมือทางด้านเทคนิคประมาณ 1,250 ล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจาก สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ที่ได้มีการตั้งกรอบวงเงิน จำนวน 750 ล้านบาท ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เพื่อใช้จัดตั้ง หน่วยงานจีโนมิกส์แห่งประเทศไทย (Genomics Thailand)ขอขยายความเกี่ยวกับการแพทย์จีโนมิกส์ กล่าวคือ เป็นเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ที่ลึกไปถึงระดับโครงสร้างหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะสามารถทำให้การรักษาโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นโครงการการแพทย์จีโนมิกส์ จึงจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการลงทุนและการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ รวมไปถึงส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Medical Hub อีกด้วย

3. การจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ที่พบว่าในปี 61 มีปริมาณขยะประมาณ 4,200 ตัน/วัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตัน/วัน ในปี 2580 โดยปัจจุบันการกำจัดขยะในพื้นที่ยังขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีฝังกลบ ซึ่งเกิดผลเสียการใช้พื้นที่และผลกระทบการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ดังนั้นจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอโครงการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด มหาชน (GPSC) เข้าร่วมในการศึกษา รวมทั้งให้จัดหาพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ โดยให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะดังกล่าว

สำหรับความก้าวหน้าเกี่ยวกับ ตัวเลขการขอตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่อีอีซี ณ ปัจจุบัน มีโรงงานเปิดกิจการแล้ว 339 ราย เกิดมูลค่าการลงทุน 79,910.90 ล้านบาท และมีตัวเลขการจ้างงานใหม่ 17,011 คน โดยคาดว่าสิ้นปี 62 นี้ จะมีตัวเลขการลงทุนในอีอีซีมากกว่า 1 แสนล้านบาท "

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
สหรัฐฯ สนใจลงทุน EEC พร้อมหนุนลงทุนเชิงหุ้นส่วน