เจ้าของรถต้องรับมือ! ปี63 เตรียมปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น

by ThaiQuote, 26 พฤศจิกายน 2562

กอพ. จ่อปรับกรมธรรม์เพิ่มขึ้นเป็น 7แสน-1 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มเบี้ยประกันโดยวางเป้า ปรับเฉพาะรถกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น รถยนต์ซิตี้คาร์ วัยรุ่นอายุ 20 ปีไม่เกิน 30 ปี เพราะเป็นกลุ่มรถที่มีความเสี่ยงมาก

บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดงานกิจกรรม "อยากเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง" ในหัวข้อ“โค้งสุดท้ายตลาดประกันภัยรถยนต์ปี 62” โดย นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดประกันภัยรถยนต์ในปี 2562 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโต 4% แต่ก็ยังถือว่าเติบโตขึ้นไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท เติบโตถึง 5% แม้จะมีงาน Motor Expo 2019 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ แต่คาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าการเติบโตได้ไม่มากนัก เนื่องจากงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปลายเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งยอดการขายจะตกไปอยู่ที่เดือนธันวาคม แต่การปิดการขายจริงๆ ยอดจะไปโชว์ที่เดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นปีหน้า เช่นเดียวกันกับตลาดรถป้ายแดงที่ปีนี้มีการเติบโตมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องพิษจากเศรษฐกิจโลกที่มีการซบเซาอย่างมาก

นายสยม กล่าวอีกว่า เมื่อต้นปีตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2562 ธุรกิจจะเติบโตประมาณร้อยละ 5 แต่ผ่านไป 9 เดือน โตได้แค่ร้อยละ 3.43 ปัจจัยสำคัญคือการที่ลูกค้าใหม่ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แม้จะมีการปรับเงื่อนไขแต่กำลังซื้อก็ยังคงน้อย รวมถึงธุรกิจยานยนต์ช่วงนี้มีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้รถป้ายแดงที่ต้องประกันภัยชั้น 1 ขายยากขึ้น ส่วนลูกค้าเก่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะมียอดการต่ออายุอยู่ที่ร้อยละ 70 แต่ส่วนตัวยังไม่พอใจ และต้องรอลุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ในงาน Moter Expo 2019 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งหากยอดจองรถป้ายแดงเพิ่มขึ้น จาก 1 ใน 4 ที่สามารถปิดยอดได้ในปีนี้ คาดหวังว่าจะโตถึงร้อยละ 4 เบี้ยประกันภัยรับตรงจะเพิ่มขึ้นถึง 30,000 ล้านบาท จากยอดขณะนี้ 29,089 ล้านบาท ตัวแปรทั้งหมดเกิดจากต้องเสีย ”ค่าขาดประโยชน์” เพิ่มขึ้น 2% จากฐานอยู่ที่ร้อยละ 60 แต่ปีนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 62 เนื่องจากเบี้ยประกันภัยเท่าเดิม แต่ค่าซ่อมบำรุงเพิ่มสูงขึ้น

“สำหรับทิศทางตลาดประกันภัยรถยนต์ในปีหน้า มีความกังวลอยู่หนึ่งเรื่อง คือการจัดการปัญหาเรื่องสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น และเรื่องค่าขาดประโยชน์ ที่ตอนนี้ทางกลุ่มอาคารสถานที่และยานพาหนะ (กอพ.) ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องของการชดใช้ชุดร่างกายทางกรมธรรม์ ซึ่งตารางแต่เดิมอยู่ที่ 5 แสนบาท แต่ตอนนี้มีปรับเป็น 7 แสน ถึง 1 ล้านบาท แต่ในขณะยังอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าน่าจะจะยุติที่ 7 แสนบาท ซึ่งทุกกรมธรรม์ที่ระบุไว้ ต้องจ่ายตามหน้าตารางที่กำหนด เพราะฉะนั้นคาดว่าค่าสินไหมน่าจะสูงขึ้นแน่นอน ผู้ซื้อน่าจะมีผลกระทบอย่างมาก หากมีการปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น เราจึงต้องมองว่าจะปรับเบี้ยประกันในรถกลุ่มใด โดยจะปรับเบี้ยในส่วนของกลุ่มรถที่มีความเสี่ยง และต้องจ่ายสินไหมทดแทนจำนวนมากมาก รถรุ่นนั่นอาจจะต้องมีการปรับขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” นายสยม กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ตลาดอุตสาหกรรมมอเตอร์ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท โตขึ้นถึง 5 % ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจโลก โดยผู้ประกอบการยังคงสั่งการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น และในปีนี้มีสถิติผู้ซื้อรถใหม่สูงเกือบถึง 1 ล้านคัน โดยสัดส่วนของการซื้อรถเก๋งมีมากกว่ารถกระบะประมาณ 60 : 40 เปอร์เซ็นต์

“ในปีหน้าจะมีข่าวดีเรื่องค่าสินไหมประกันภัยที่จะต้องจ่ายตามหน้าตาราง ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ล่าสุดจ่ายที่ 700,000 บาท บวก พ.ร.บ. รถยนต์อีก 300,000 บาท ซึ่งจะเริ่มใช้ปีหน้านี้ จะส่งผลให้เบี้ยประกันปรับขึ้นถึงร้อยละ 2 วิริยะประกันภัยจึงต้องปรับเบี้ยให้อยู่ในเกณฑ์สมเหตุสมผล ไม่ปรับทั้งกระดาน โดยวางเป้าหมายไว้ว่า จะปรับเฉพาะรถกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น รถยนต์ซิตี้คาร์ วัยรุ่นอายุ 20 ปีไม่เกิน 30 ปี” นายสยม กล่าวในท้ายสุด