ตกงานไม่ต้องกลัว อุตสาหกรรมเปิดตัวเลข 5 ปีต้องการแรงงาน 2.25 ล้านคน

by ThaiQuote, 9 ธันวาคม 2562

เปิดตัวเลขความต้องการแรงงาน 2.25 ล้านคน ระยะ 5 ปี ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งระดับต่ำกว่า ม.6 จนถึงปริญญาตรี เผยปีหน้าต้องการถึง 3.52 แสนคน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาศักยภาพผลิตแรงงานเพื่อป้อนให้เพียงพอ

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในการเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สศอ.ได้ศึกษาโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังกล่าว ที่มีความต้องการแรงงานตั้งแต่ปี 62-67 ปริมาณรวม 2.25 ล้านคน โดยปี 63 ที่จะถึงนี้ มีความต้องการแรงงาน 3.52 แสนคน และช่วงปี 63-67 มีความต้องการแรงงาน 1.75 ล้านคน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาศักยภาพผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอ เพื่อคลายความกังวลถึงการขาดแคลนแรงงานของนักลงทุน

ทั้งนี้ในระยะยาว ความต้องแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกำลังมีความต้องการอย่างมากด้วย โดยตัวเลขความต้องการรวม 2.25 ล้านคน เป็นต้องการทั่วประเทศไม่ใช่แค่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาแรงงานตกงานจึงเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น จากการวิเคราะห์ทั้งใช้สมมติฐานในกรณีต่างๆ เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรม การทดแทนแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

สำหรับตัวเลขความต้องการแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

1 อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีความต้องการแรงงานรวม 2.35 แสนราย แบ่งเป็นระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.34 หมื่นราย วิชาชีพ 1.15 แสนราย อุดมศึกษา 5.68 หมื่นราย

2 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการรวม 2.41 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.14 หมื่นราย วิชาชีพ 2.95 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.50 แสนราย

3 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.8 หมื่นราย วิชาชีพ 1.26 แสนราย อุดมศึกษา 8.45 หมื่นราย

4 อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 2.09 แสนราย วิชาชีพ 8.67 พันราย อุดมศึกษา 9.81 พันราย

5 อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป มีความต้องการรวม 2.36 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 9.78 พันราย วิชาชีพ 6.97 หมื่นราย อุดมศึกษา 6.87 หมื่นราย

6 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีความต้องการรวม 2.11 แสนราย แบ่งเป็นวิชาชีพ 7.4 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย

7 อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ มีความต้องการรวม 2.13 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.7 หมื่นราย วิชาชีพ 1.17 แสนราย อุดมศึกษา 7.89 หมื่นราย

8 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีความต้องการรวม 2.16 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 5.2 หมื่นราย วิชาชีพ 7.37 หมื่นราย อุดมศึกษา 8.99 หมื่นราย

9 อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการรวม 2.17 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.73 หมื่นราย วิชาชีพ 5.43 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.45 แสนราย,

10 อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีความต้องการรวม 2.21 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.77 หมื่นราย วิชาชีพ 6.64 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ประชาชนกังวลปากท้องของตนเอง และค่าใช้จ่ายประจำวัน