“วีรศักดิ์”คิกออฟ นำทัพปล่อยทีมลุยจัดร้าน-พลิกโฉมโชห่วย”โคราช”

by ThaiQuote, 27 มกราคม 2563

รมช.พาณิชย์ นำทัพปล่อยคาราวานทีมพัฒนาร้านโชห่วยเป็น “สมาร์ท โชห่วย” ดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานที่ผ่านการฝึกอบรมเข้ม ลงพื้นที่ช่วยจัดร้านและปรับภาพลักษณ์ร้านค้าในพื้นที่ให้สวยงาม ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ง่าย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีปล่อยคาราวานขบวนรถทีมพัฒนาร้านค้า Smart โชห่วย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน นำนักศึกษาที่ผ่านการอบรมทีมพัฒนาร้านสมาร์ท โชห่วย ส่งลงพื้นที่ไปยังร้านโชห่วยที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อช่วยจัดร้านและปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เพื่อผลักดันให้ร้านโชห่วยพัฒนาเป็นสมาร์ท โชห่วย ซึ่งประกอบด้วยการจัดร้านค้า , การนำระบบ IT มาบริหารจัดการ , การจัดโปรโมชั่น , การเพิ่มรายได้เสริม และการหาแหล่งเงินทุน

 



ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาว่า มีร้านโชห่วยในจังหวัดที่มีความพร้อมจะพัฒนาเป็นสมาร์ท โชห่วย จำนวน 4,158 ร้าน แบ่งเป็นขนาด SS ร้อยละ 62.7 ขนาด S ร้อยละ 19.4 ขนาด M ร้อยละ 13.4 และขนาด L ร้อยละ 4.5 และหากพัฒนาร้านโชห่วยให้มีศักยภาพได้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่อยู่ในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ มีจำนวนกว่า 2.6 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการปกครอง)



“การดึงนักศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาร้านโชห่วยในครั้งนี้ จะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกิดความรักท้องถิ่น และพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้เติบโต” รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายวีรศักดิ์อีกว่า การพัฒนาร้านโชห่วย จะเข้าไปช่วยจัดร้านโดยจะเริ่มจากการจัดหมวดหมู่ของสินค้าให้เป็นระบบตามประเภทของสินค้า ง่ายต่อการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า การเว้นพื้นที่ทางเดินที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งกีดขวาง การจัดเรียงสินค้าที่ง่ายต่อการพบเห็น และจัดมุมโปรโมชั่นสำหรับสินค้าขายดี ซึ่งการจัดสินค้าในลักษณะนี้ จะทำให้ร้านโชห่วยเป็นระเบียบ สวยงาม ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้าน อีกทั้งยังทำให้เจ้าของร้านบริหารจัดการสต็อกสินค้าได้ดียิ่งขึ้น รู้ว่าสินค้าใดเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือสินค้าใดที่ไม่ได้รับความนิยมจะได้ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้ในคลังจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา ถือเป็นจุดอ่อนใหญ่ของร้านโชห่วยที่ทำให้เงินทุนจมอยู่กับสินค้าที่ขายไม่ได้



“ได้เริ่มพัฒนาร้านโชห่วย โดยลงพื้นที่ ณ ร้านโอ๋ ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมือง และได้มอบตราสัญลักษณ์ร้านสมาร์ท โชห่วย สำหรับติดหน้าร้าน เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าตัดสินใจเดินเข้าได้แบบไม่ลังเล โดยร้านโอ๋เป็นร้านโชห่วยที่ตั้ง อยู่ใจกลางชุมชน มีขนาด SS รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และมั่นใจว่า การปรับโฉมร้านค้า แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นสมาร์ทโชห่วย แต่จะช่วยให้ร้านสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว” นายวีรศักดิ์ กล่าว

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ดัน 2 GI น้องใหม่ "มะพร้าวทับสะแก” และ “ข้าวไร่ดอกข่าพังงา”