สธ. เผยตรวจ ATK 1.45 แสนคน พบผลบวก 1.6 หมื่นคน สะท้อนมีผู้ป่วยติดค้างในกทม.อื้อ

by ThaiQuote, 11 สิงหาคม 2564

สธ.เผยยังมีคนติดเชื้อโควิดติดค้างในชุมชน กทม.-ปริมณฑลอีกเพียบ หลังระดมตรวจ ATK 1.45 แสนคน เจอติดเชื้อ 1.6 หมื่นคน พบระดับสีเหลือง 4,639 คน อีก 331 มีอาการรุนแรง

 

วันนี้ (11 ส.ค.64) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงผลปฏิบัติงานเชิงรุก CCR Team พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า ผลการดำเนินงาน CCR Team ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14-16 ก.ค. ตรวจ Antigent Test Kit (ATK )พบผู้ติดเชื้อโควิด หรือผลบวก 9% ครั้งที่ 2 เมื่อ วันที่ 21-23 ก.ค. ตรวจพบ 16.1% และล่าสุดครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4-10 ส.ค.

โดยรวมมีประชาชนรับการตรวจ ATK รวม 145,566 คน พบผลบวก 16,186 ราย คิดเป็น 11.1% ซึ่งการตรวจครั้งที่ 3 เป็นการตรวจชุมชนแออัด ที่มีทั้งขึ้นทะเบียน และไม่ขึ้นทะเบียนหลายร้อยชุมชน รวมไปถึงคอนโดมิเนียม และที่อยู่อาศัยอื่นๆ

 

สำหรับการตรวจครั้งที่ 3 เป็นการรวมทีม CCR Team จากภูมิภาคทั่วประเทศ 41 ทีม รวมผู้ปฏิบัติงาน 400 คน แต่ละทีมประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และสหวิชาชีพทำหน้าที่ร่วมกัน โดยมีการทำงานเชิงรุก 4 ภารกิจหลัก คือ ตรวจ ค้นหา รักษา และฉีดวัคซีน และใช้การตรวจ ATK ที่ทราบผลเร็วไม่เกิน 30 นาที

ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อ ทีมจะติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมบ้านหรือร่วมชุมชนมาตรวจเพิ่มเติม และนำผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าสู่กระบวนการรักษา โดยมีแพทย์ประเมินความรุนแรงของอาการทุกราย หากเข้าเกณฑ์การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ จะจ่ายยาในทันที หากไม่เข้าเกณฑ์ จะให้ยาฟ้าทะลายโจร และคำแนะนำในการดูแลตัวเอง โดยทุกคนจะได้รับการลงทะเบียนเข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ของ สปสช. หรือเข้ารักษาที่ชุมชน (Community Isolation) หรือหากมีอาการรุนแรงจะส่งเข้ารักษาใน รพ.ต่อไป และจะส่งยืนยันการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR

สำหรับผู้ตรวจ ATK ที่มีผลเป็นลบ หากเป็นผู้ที่อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง 608” คือ ผู้ที่มีอายุ60ปี ขึ้นไป ผู้ป่วย 7โรคเรื้อรัง หรือหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกราย

 

 

ทั้งนี้จากผลตรวจ ATK ที่พบอัตราผู้ติดเชื้อ 11.1% นั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า อัตราการติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลยังน่าเป็นห่วงและต้องติดตาม

ขณะเดียวกันจากการประเมินอาการผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียว 11,216 คน คิดเป็น 69.3% ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็น 28.7% และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับสีแดง 331 คน คิดเป็น 2% สะท้อนว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชน และยังเข้าไม่ถึงการตรวจเพื่อวินิจฉัยตัวเองว่าติดเชื้อหรือไม่ จึงต้องได้รับการค้นหาและให้การรักษาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากมีปฏิบัติการของทีม CCRT เช่นนี้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะสามารถช่วยเรื่องการควบคุมโรค การทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเข้าถึงยา และลดอัตราการเข้า รพ. อัตราการเปลี่ยนสีผู้ป่วย และลดการเสียชีวิตได้

เรื่องที่น่าสนใจ

“เด็กไทย” ติดโควิด เกือบ 8 หมื่นคน รัฐตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19” สายด่วน 1300