“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ว่าด้วยเรื่องการถอดถอน “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อ “ศิลปินต้องมีจิตวิญญาณขบถ”

by ThaiQuote, 21 สิงหาคม 2564

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ว่าด้วยเรื่องการถอดถอน “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อ “ศิลปินต้องมีจิตวิญญาณขบถ”

 

จากกรณี คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีมติยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2554

“หากปรากฎว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 2ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรค 2 ให้งดการจ่ายประโยชน์ ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”
.
ข้อความดังกล่าว เป็นไปตามข้อที่ 10 ในกฎกระทรวงวัฒนธรรม ถึงหลักเกณฑ์การ กำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553

การถอดถอน ศิลปินแห่งชาติครั้งนี้ มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย ว่าอาจเป็นเพราะ การที่ “สุชาติ” โพสต์เรื่องการเมือง ในกรณีของการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเรื่องราวที่นำไปสู่ชนวนของการถูกถอดถอน คือเรื่องของวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” และ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” หรือ “สิงห์สนามหลวง” ในวัย76 ปี จึงถือว่าเป็นคนแรกที่โดนยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
.

 

Thaiquote ขอหยิบยก บทสัมภาษณ์ “ศิลปะคือเสรีภาพ ศิลปินต้องมีจิตวิญญาณขบถ” ของ “สุชาติ” เมื่อวันที่ 21 ม.ค.58 โดยนักศึกษากลุ่ม Three Old Men ( ไตรชรา ) คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ม.ศิลปากร ซึ่ง “สุชาติ” ได้นำมาลงไว้ใน เฟซบุ๊ก ส่วนตัว เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ที่ผ่านมา

...ศิลปินคือคนธรรมดา งานของศิลปินต่างหากที่จะบอกตัวของมันเองว่าเป็นอย่างไร เป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน หรือเป็นได้เพียง “กลไก”บางอย่าง ...ศิลปะมันให้เรื่องความงามกับความจริงมาก่อน แต่ความดีมันขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคุณเอง และของคนอื่นที่อาจจะมีความเห็นต่างไปจากคุณ ...สำหรับผม ความจริง จะอยู่ตรงกลางระหว่าง ความงาม กับ ความดี เสมอ

 

 

...คนทำงานศิลปะก็ไม่ควรหวั่นไหว แต่ก็ไม่ควรจะกร่างว่ากูคนเดียวแน่ แล้วงานศิลปะก็เกิดขึ้นมากมายจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร ผมจึงเคยพูดว่าผมไม่ห่วง ‘คนสร้าง’กับ ‘คนเสพ’ หรอก แต่ห่วง ‘คนสืบทอด’ เช่น สถาบันสอนศิลปะ หรือพวกครูบาอาจารย์ที่คับแคบมากกว่า

...ยิ่งในสังคมที่ไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทุกอย่างก็เลยเหมือนไม่ได้สืบทอดไปไหนทั้งนั้น หรือถ้าสืบทอดก็จะแบบ “ไทยราชการ” หรือ “อวย”กันอยู่แต่ในกลุ่ม ดูรายชื่อ “ศิลปินแห่งชาติ” ก็จะเห็นความเป็น “แห่งชาติ” ว่าเป๋ไปเป๋มา ไม่มีความชัดเจน เรื่องหลักบอกเขตหรือลำดับความสำคัญก่อน-หลัง ส่วนใหญ่มักจะเป็นพวก “ศิลปินข้าราชการ” พวกอนุรักษ์โน่นอนุรักษ์นี่ประเภท “โค่นต้นไม้ปลูกป่า” เพื่อเฉลิมนั่นฉลองนี่ เอางบประมาณจากภาษีของประชาชนมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

...ผมเองแม้ไม่ได้ทำงานศิลปะจริงจัง แต่ก็ชอบไปดูงานของคนอื่น เพราะมันเหมือนต่อความใฝ่ฝันให้ผม เป็นเหมือนการต่ออายุทางศิลปะให้ผมไปในตัว ...คนที่ทำงานศิลปะในบ้านเรานั้น มันเหมือนตกอยู่ในสภาพไม่มีโอกาส ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีพื้นที่ ...จะรักษาความใฝ่ฝันทำงานตามแบบที่เราต้องการได้เพียงใด หรือบางทีอาจไม่ต้องทำด้วยตนเอง แต่ส่งทอดความใฝ่ฝันไปให้คนอื่น ผมก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแบบนั้น ผมไม่ใช่ศิลปินที่ยิ่งใหญ่อะไร ผมทำตัวเป็นสะพาน มากกว่าเป็น กำแพง ผมก็มีแค่นี้จริงๆ

...ศิลปินต้องมีจิตวิญญาณขบถ เขาต้องเป็นตัวของตัวเอง คนที่ทำงานศิลปะไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม เขาควรเป็นตัวของตัวเอง ต้องพูดเต็มเสียงผ่านการงานที่เขารัก ชีวิตของเขาหรืออะไรก็ตามแต่ที่จะก้าวออกไปข้างหน้าต้องมีบรรยากาศที่เอื้อหนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพเป็นสิ่งเดียวที่คุณจะต้องไปค้นหาว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ ความเสมอภาค ภารดรภาพ นี่คือหลักการของโลกสมัยใหม่ในสังคมแบบเปิด เป็น Open Society ไม่ใช่ Close Society

...ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือเป็นศิลปินทำงานศิลปะ ผมว่าเขาควรจะมี “จิตวิญญาณขบถ” ที่ก้าวไปข้างหน้าก่อนหนึ่งก้าว จะผิดจะถูกไม่รู้ หมายความว่าเขาควรต้องมีความกล้าในทางหลักการบางอย่าง นี่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปก่อกบฎหรือความรุนแรง แต่หมายความว่าให้คุณมั่นคงในหลักการแห่งจิตสำนึกที่เห็นคนเป็นคน ต้องกล้าหาญกับหลักการที่ถูกต้อง ถ้าอยู่ในระบบราชการต้องรับใช้ราษฎร ไม่ใช่กดขี่ราษฎร เวลาคิดโครงการอะไรขึ้นมา ต้องมองให้พ้นไปจากปลายจมูกของตน

...ผมจึงคิดว่าในแง่เทคนิค เราเรียนทันกันหมด ยิ่งมีเทคโนโลยีทันสมัยอยู่ใน Google หรือ You Tube ศิลปินในความหมายสูงส่งศักดิ์สิทธิ์เคยวางอยู่บนหิ้งก็ไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป

 

เรื่องที่น่าสนใจ

ปลดล็อก “กระท่อม” รัฐเตรียมปล่อยนักโทษ 1,038 ราย ปลื้มเซฟเงินค่าใช้จ่าย 1.6 พันล้านบ.