ก้าวแรก !!! เด็กไทย คว้าแชมป์เอเชีย เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ NASA

by ThaiQuote, 29 ตุลาคม 2564

‘ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ’จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นตัวแทนเยาวชนไทย เข้าแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิ่ง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 2

 

สามารถทำคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยเอาชนะเยาวชนคู่แข่งจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ สิงคโปร่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และคว้ารางวัลชนะเลิศระดับเอเชียมาครองได้

“อินเดนเทชัน เออเร่อ” (Indentation Error) ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร มีสมาชิกในทีม 3 คน ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และด.ช.เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

 

 

 

สำหรับ โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ จัดขึ้นโดย องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรูปแบบการแข่งขัน ให้ทีมที่เข้าร่วมบังคับหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนน

โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่นทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ

สำหรับ Astrobee คือหุ่นยนต์ Space Drone ที่ทาง NASA Ames Research Center นำไปใช้งานบน ISS ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้ทำงานเป็นระบบอัตโนมัติเป็นหลัก แต่ในบางกรณีนักบินอวกาศก็สามารถควบคุมได้เช่นกัน

 

 

 

งานหลักของหุ่นตัวนี้จะเน้นการขนถ่ายสิ่งของบนอวกาศ งานสแกนหาของโดยใช้ Tag RFID และตรวจจับโดยกล้องที่ติดในโดรนและตรวจสอบโดย Software อีกทั้งหน้าที่หลักของหุ่นยนต์ที่ก็คือการช่วยเหลือสำหรับงานวิจัยขั้นสูงกับนักบินอวกาศบนสถานีและจะมาแทนที่ หุ่นยนต์ Spheresซึ่งเป็นหุ่นยนต์ชนิดแรกที่ใช้บนยานอวกาศอีกด้วย

“ธฤต วิทย์วรสกุล” ตัวแทนของทีม กล่าวว่า ทีมเราสามารถชนะเลิศได้เพราะสามารถบังคับหุ่นยนต์ Astrobee ให้เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าทำให้คะแนนออกมาดี ผมต้องขอขอบคุณ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา และขอบคุณ สวทช. ที่จัดการแข่งขันในประเทศไทยพร้อมทั้งสนับสนุนทีมเราเป็นอย่างดีในการมาร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ทีมเราได้เรียนรู้หลายเรื่องในการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ที่ใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติ และต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มีส่วนผลักดันให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

อว.ไฟเขียว เรียนปริญญา ไม่กำหนดปีจบ ยกเลิกระบบรีบเรียนรีบจบ