ยกระดับ คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซื้อสินค้า-บริการ “ออนไลน์”

by ThaiQuote, 15 พฤศจิกายน 2564

ภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ลงนาม MOU แก้ปัญหาซื้อ-ขายสินค้าไม่ปลอดภัยในตลาดออนไลน์ ผุด 21 ข้อตกลง ดึงผู้ให้บริการเป็นต้นทางสกัดผลิตภัณฑ์อันตราย

 

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การทำธุรกิจออนไลน์เป็นการทำตลาดตรงกับผู้บริโภค ดังนั้นรูปแบบการสื่อสาร การโฆษณาชวนเชื่อ จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสสินค้าได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

 

ที่สำคัญผู้ซื้อไม่สามารถรูัตัวตนที่แท้จริงของผู้ขาย ถือเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การหลอกขายสินค้า ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา สินค้าเสียหาย สินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลแล้วถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

 

ดังนั้นการลงนามในบันทึกข้อตกลงการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ฉบับนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไทยไปสู่มาตรฐานสากล

 

ด้าน “อภิญญา ตันทวีวงศ์” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา ยังพบว่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำให้ยังมีการหลอกลวงคุณสมบัติเกินจริงเพื่อสร้างยอดขาย

 

ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา สินค้าเสียหายก่อนถึงมือ รวมไปถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ดังนั้นถือเป็นเรื่องดีที่หน่วยงานต่างๆจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

 

 

ด้าน “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อตกลงการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ทั้ง 21 ข้อ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสำหรับการซื้อ-ขายทางของออนไลน์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมถึงความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

 

และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งขอบคุณ เจดี เซ็นทรัล ลาซาด้า แอลเอ็นดับเบิลยู บิวตี้นิสต้า แอสเชนด์ คอมเมิร์ซ ที่เข้าร่วม แต่น่าเสียดายที่ความร่วมมือนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้ง ช้อปปี้ เฟซบุ๊กประเทศไทย ซึ่งก็จะเดินหน้าประสานงานต่อไป

 

“ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นบันทึกข้อตกลงนี้ จะช่วยเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายในตลาดออนไลน์

 

โดย สสส.มุ่งพัฒนาระบบที่ทำให้ประชาชนซื้อขายสินค้าที่ปลอดภัย มีแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ เช่น ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ต้องไม่ยินยอมให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกยกเลิก หรือเพิกถอนทะเบียน หรือสั่งห้ามจำหน่าย รวมถึงจัดให้มีช่องทางการรับแจ้งกรณีพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยและดำเนินการปิดกั้นอย่างเร่งด่วน

 

ขณะที่ “ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า แนวปฏิบัติที่ถูกระบุใน MOU เช่น ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะต้องมีการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม จำหน่ายสินค้าและบริการ ยึดมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ แสดงราคาอย่างโปร่งใส และบันทึกประวัติการซื้อขายอย่างเหมาะสม เป็นต้น