ยกระดับคุณภาพชีวิต “ทุ่งกุลาร้องไห้” ผ่าน โมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เกษตรยั่งยืน

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2564

สวทช. ร่วมกับภาครัฐ-เอกชน และ 3 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ขับเคลื่อน “โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยกระดับเกษตรกร มีรายได้ก้าวพ้นเส้นความยากจน

 

น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มาตั้งแต่ปี 2562 โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม

 

 

ตลอดจนพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ นวัตกรชุมชน เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน รวมถึงยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผ่าน “โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี

 

สำหรับพื้นที่ทุ่งกลาร้องไห้เป็นที่ราบลุ่มผืนใหญ่มีพื้นที่กว่า 3.7 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร

 

 

แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแอ่งกระทะ มีชั้นผิวดินเป็นดินร่วนทราย ชั้นล่างเป็นหินเกลือ ดินของทุ่งกุลาจึงไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ บวกกับระบบชลประทานที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก เกษตรกรต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

 

แม้ว่าพื้นที่ทุ่งกุลาฯ จะเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่จากสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งส่งผลต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่

 

 

สวทช. จึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัย และบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ทำงาน เพื่อสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกลาฯ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปปรับประยุกต์ใช้และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้พ้นความยากจน การดำเนินงานภายใต้โปรแกรมฯ นี้คาดหวังให้กลุ่มคนจนเป้าหมายในมิติเศรษฐกิจมีรายได้ก้าวพ้นเส้นความยากจนที่ 38,000 บาทต่อคนต่อปี และกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

 

โดยจากการหารือดังกล่าว เบื้องต้นในแต่ละจังหวัดได้กำหนดประเด็นนำร่องสำหรับดำเนินการตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ข้าว พืชหลังนา ผักอินทรีย์ โค สิ่งทอ และการบริหารจัดการน้ำ โดยคณะทำงานแต่ละจังหวัดจะร่วมกันกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการทำงานต่อไป