หมูแพงต่ออีก 6 เดือน พ่อค้า-แม่ค้าต่างโอดครวญ เชื่อปลายปีลด แต่ไม่เท่าเดิม

by ThaiQuote, 13 มกราคม 2565

“หมูแพง” ! สะเทือนตลอดห่วงโซ่อาหาร คาดขึ้นต่อเนื่องอีก 6 เดือน ปลายปีลด แต่ไม่เท่าเดิม รายย่อยอ่วม

ราคาหมูเพิ่ม กระทบตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่โรงเชือดสุกร ยันร้านลูกชิ้นปิ้ง บ้างขึ้นราคา บ้างตรึงราคาแต่ลดปริมาณ รายย่อยชี้อึดได้ไม่เกิน 1 เดือน โรงเชือดคาดครึ่งปีแรกราคาหมูยังพุ่งพรวด ปลายปีถึงจะลดลงเล็กน้อย ไม่มีทางที่ราคาจะเท่าเดิม

จากการระบาดของโรค AFS ได้ส่งผลกระทบกับปริมาณการเลี้ยงหมูออกสู่ตลาด และกระทบต่อทุกห่วงโซ่การผลิตที่มีเนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหลักหรือวัตถุดิบประกอบ

โรงเชือดสุกรเชื่อ ขึ้นต่อเนื่องอีก 6 เดือน

 

นายสมพงศ์ หอมประโคน ผู้จัดการโรงเชือดสุกร “สุกรทอง” ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว “Thaiquote” ว่า ราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มก่อนมาถึงโรงเชือดได้ปรับราคาขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นการทยอยปรับราคามาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายใน 6 เดือนของต้นปี 2565 ราคาเนื้อสุกรยังคงจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่าจะมีปริมาณสุกรขุนเข้าสู่โรงเชือดได้มากตามปกติจะต้องอย่างน้อย 7-8 เดือนไปแล้ว และคาดว่าปลายปีหรือประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ราคาถึงค่อยปรับตัวลง แต่จะไม่กลับไปในราคาก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน อย่างมากก็ลดลงมาประมาณ 10-15% ของราคาสูงสุด

“โกเด้ง โฮเด้ง” แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูรายใหญ่ ไม่ปรับราคาแต่ลดปริมาณ

 



ทางด้านนายที เจ้าของเครือข่ายแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมู “โกเด้ง โฮเด้ง” วีพี มีจำนวนกว่า 12 สาขาให้สัมภาษณ์กับ “Thaiquote” ว่า “ทางโรงงานไม่ได้คิดราคาเพิ่ม แต่ลดปริมาณลง เช่นปกติเคยส่ง 2 โลในราคาหนึ่ง ราคาที่จัดส่งตอนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ลดปริมาณการส่งเหลือ 1.5 กิโลกรัม เป็นต้น ทางโรงงานได้เริ่มใช้มาตรการนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ทางร้านยังขายราคาเท่าเดิม ซึ่งส่งผลให้กำไรลดประมาณ 20% ซึ่งทางร้านพยายามที่จะตรึงราคาให้นานที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาเช่น ในก๋วยเตี๋ยวของทางร้านมีส่วนประกอบของเนื้อหมูเข้ามาด้วย ก็ลดปริมาณเนื้อหมูลงไป แล้วเพิ่มส่วนอื่นที่ราคาถูกกว่าเข้ามาเสริมเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นให้ผ่านจุดวิกฤตนี้ไปก่อน ถัดจากนี้หากราคายังไม่ลดลงมาก็ต้องปรึกษากับทางโรงงานซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเครือข่ายแฟรนไชส์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยตัวเองคาดไปในทางที่ดีว่า ราคาที่ขึ้นไปนี้น่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว”

 

ร้านลูกชิ้นหมูยืนกิน “บุรีรัมย์” ขอแบกรับแทนแฟรนไชส์ซอร์ไปก่อน

 


นายเจษฎาพร ชัยยุทธสาหกิจ เจ้าของแฟรนไชส์ร้านลูกชิ้นหมูยืนกิน “บุรีรัมย์” ที่โด่งดังในขณะนี้และมียอดขายแฟรนไชส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์ “Thaiquote” ว่า “ราคาเนื้อหมูที่มาทำเป็นวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่พอมาผลิตเป็นลูกชิ้นต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5%” พร้อมกับกล่าวต่อว่า

“ขณะนี้ทางบริษัทยังไม่มีนโยบายขึ้นราคาขายส่งไปยังแฟรนไชส์และราคาขายปลีกไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจของบริษัทเป็นระบบแฟรนไชส์ การขึ้นราคาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องคิดทบทวนก่อน เพราะจะส่งผลกับการขยายการรับสมาชิกแฟรนไชส์ในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้สมาชิกแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ของทางบริษัทเป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หากมีการปรับราคาวัตถุดิบจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรายวันของเขา ทางบริษัทจึงขอรับแบกภาระนี้ไปก่อน”

ส่วนการคาดการณ์ราคาของวัตถุดิบนั้นคาดว่าจากสถานการณ์เช่นนี้ภายใน 1 ไตรมาสทางบริษัทยังรับได้อยู่ แต่คาดว่าราคาเนื้อหมูจากฟาร์มน่าจะขึ้นไปมากกว่า 1 ไตรมาส โดยความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ราคาในตลาดน่าจะดีขึ้น เพราะจะมีเกษตรกรเข้าไปเลี้ยงสุกรมากขึ้น นอกจากนี้ภาวะโรคระบาดนี้มักเกิดขึ้นกับฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดเล็ก ซึ่งมีระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดีพอ ส่วนโรงฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ที่มีระบบสุขาภิบาล และการควบคุมเชื้อโรค การระบาดที่ดี ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก จึงเชื่อมั่นอย่างมากว่าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้

ร้านหมูกระทะอึดได้ไม่เกิน 1 เดือน

 

ทางด้านคุณฝ้ายเจ้าของร้านหมูกระทะ “ฟันธง” นวมินทร์ กล่าวกับ Thaiquote ว่า ต้นทุนเนื้อหมู ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการทำหมูกระทะนั้นได้ทยอยขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และมาชัดเจนมากที่สุดประมาณเดือนธันวาคม โดยจากการประมาณต้นทุนที่เกี่ยวกับเนื้อหมูขึ้นไปประมาณ 25% และยังมีต้นทุนส่วนอื่น ๆ ขึ้นตามด้วย เช่นค่าขนส่ง และส่วนผสมอื่นๆ ทำให้ต้นทุนโดยรวมขึ้นไปประมาณ 25-30% สำหรับทางร้านวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ยังไม่กล้าปรับราคากับลูกค้า เพราะเท่าที่ยังไม่ปรับลูกค้าก็หายไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง วิธีการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจึงใช้วิธีการลดปริมาณวัตถุดิบที่ขึ้นราคา และเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่ราคาถูกลง ยกเว้นลูกค้าจำเพาะเจาะจงว่าอยากได้เนื้อหมูที่มากขึ้น ทางร้านก็จำเป็นต้องเพิ่มราคาขึ้นเล็กน้อย ซึ่งทางลูกค้าก็เข้าใจ แต่ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกประมาณ 1-2 เดือนทางร้านก็ต้องขอปรับราคาโดยรวมจากลูกค้า เพราะคงทนต่อสภาพต้นทุนเช่นนี้ต่อไปได้ไม่นานแล้ว.