ไม่แพ้ใครในโลก! สถาปนิกปิ๊งไอเดียสร้าง AR เสมือนจริง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและขายของที่ระลึก

by ThaiQuote, 21 มกราคม 2565

สถาปนิกผู้หลงใหลในเสน่ห์ท่องเที่ยวไทยและภูมิปัญญาสินค้าชุมชน สร้างนวัตกรรมแพลตฟอร์ม AR เสมือนจริง แนะนำแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัดทางใต้ พร้อมกับเป็นช่องทางขายสินค้าที่ระลึกและทำการตลาดร้านคู่ค้า ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและขายของที่ระลึก

จากข้อมูลการท่องเที่ยวระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยว ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูล เป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30 จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอำเภอเบตง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ที่เดินทางมาเยี่ยมญาติพร้อมกับการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งแต่ละปีมีมากถึง 9 ล้านคน แต่พฤติกรรมในปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มมองหาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่มากขึ้น เพื่อเปิดประสบการณ์ความท้าทาย ความสนุกสนาน และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ รวมถึงการซื้อสินค้าในพื้นที่เพื่อนำไปเป็นของฝากให้กับผู้อื่นได้

การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น การนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Augmented Reality; AR) มาบอกเล่าเรื่องราวผ่านรูปแบบภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ เพื่อเพิ่มจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่และสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและบริการได้หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถนำสินค้าและบริการของคนในชุมชนมานำเสนอเพื่อให้เข้าถึงง่ายและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่ได้ลองเข้ามาเยี่ยมชม

 

 


คุณเกศกนก-โบ- แก้วกระจ่าง ผู้ก่อตั้งบริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด ซึ่งแต่เดิมประกอบอาชีพสถาปนิก แต่มีความชอบการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม สนใจงานหัตถกรรม และเรื่องราวของคนท้องถิ่น มองเห็นโอกาสต่อยอดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเสมือนจริง “สยามที่รัก” ที่สามารถนำข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ใกล้เคียงมานำเสนอในรูปแบบใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างความแตกต่างในการท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยี AR ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวสามมิติ ซึ่งสามารถดูเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีการออกแบบเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ

แพลตฟอร์ม AR ของคุณโบนอกเหนือจากทำหน้าที่เป็นเครื่องนำทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว ความเป็นนวัตกรรมคือการใส่ข้อมูลเล่าเรื่องราว ความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวนั้น พร้อมกับนำเสนอสินค้าที่เป็นอัตตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยสามารถแยกเป็นท้องถิ่นขายเอง และมีจำหน่ายในร้านค้าของคุณโบ

“ในระยะแรกของการทำแพลตฟอร์ม โบยังทำงานสถาปนิก และมีงานขายของที่ระลึกต่าง ๆ จากแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้เป็นอาชีพเสริม แต่เมื่อมีการพัฒนา AR มาเล่าเรื่องราวท้องถิ่น และขายของที่ระลึกไปด้วย ปรากฏว่าผลตอบรับดี จึงได้นำมาทำอาชีพนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง” คุณโบกล่าว

 

 

แพลตฟอร์ม AR “สยามที่รัก” นอการเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก และระบบเกมส์ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเก็บคะแนน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดในร้านอาหารหรือแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น ตลอดจนระบบยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การบริการ และการซื้อขายสินค้าท้องถิ่นให้กับแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นนวัตกรรมของแพลตฟอร์มนี้คือ เมื่อลูกค้ารายแรกที่เป็นนักท่องเที่ยวในเมืองไทย มาเข้าแพลตฟอร์ม “สยามที่รัก” ในเมืองไทย เห็นการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และร้านค้าของคุณโบ เมื่อเขากลับไปแล้ว เขายังสามารถเข้ามาค้นหาแหล่งท่องเที่ยว และเยี่ยมชมเสมือนหนึ่งมาเที่ยวได้จริงในเมืองไทย ทั้งที่อยู่ในเมืองเขา มีเกมให้เล่น ส่งต่อการเล่นเกมในประเทศของเขา ทำให้เกิดการกระจายในแวดวงของเพื่อนนักท่องเที่ยว และเมื่อเขากลับมาเมืองไทยอีกครั้ง AR ตัวนี้ก็สามารถนำพาลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ กลับมาซื้อซ้ำโดยที่ทางคุณโบไม่ต้องทำการตลาดเพิ่มเติม

 

 

สิ่งที่เป็นเสน่ห์เพิ่มเติมของ “สยามที่รัก” คือเอา AR บนมือถือไปสแกนบนตัวสินค้า หรือต่ำแหน่งของสถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวนั้น ตั้งแต่ประวัติ ความเป็นมา จุดเด่น เส้นทาง แผนที่ สินค้าเด่น ก็จะปรากฏ และบางร้านที่อยู่ในเครือข่ายการทำกิจกรรม หากลูกค้าจากแพลตฟอร์มของทาง “สยามที่รัก” ไปอาจได้ส่วนลด หรือของแถมจากการให้บริการหรือซื้อสินค้า จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาด การท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยมีใครพัฒนามาก่อน

ดังนั้นนอกจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขายสินค้าท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 บาท และจากการขายสินค้าชุมชนและของที่ระลึกมากกว่า 450,000 บาท ตลอดจนเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้าท้องถิ่นในพื้นที่ได้ถึง 3 เท่า เกิดการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

 

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

โครงการดังกล่าวช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขายสินค้าท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สามารถสร้างรายได้มากกว่า 350,000 บาท จากการท่องเที่ยว และ 450,000 บาท จากการขายสินค้าชุมชนและของที่ระลึก ในตลอดระยะเวลาตั้งแต่ได้รับการสนับสนุนโครงการจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 8 เดือน และยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ตลอดจนเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้าท้องถิ่นในพื้นที่ได้ถึง 3 เท่า เกิดการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ผลกระทบทางด้านสังคม

ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและขายสินค้าท่องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและเพิ่มรายได้คนในพื้นที่

ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: บริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด
Facebook : https://www.facebook.com/SIAMTEERUK/
ที่อยู่ 35/37 ถนนหอยมุกต์ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เบอร์ติดต่อ 061 326 9619
แหล่งอ้างอิง: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)