ด่วนล่าสุด กรมการแพทย์แจงเกณฑ์ใหม่ ผู้ป่วยกักตัวที่บ้านเคลมโควิด “โควิดกลายพันธุ์” ใหม่ร้ายกว่าสายพันธุ์เดิม

by ThaiQuote, 14 กุมภาพันธ์ 2565

ด่วน!...กรมการแพทย์แจงเกณฑ์ใหม่ ผู้ป่วยกักตัวที่บ้านเคลมโควิดได้ ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศเผยตัวกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 อาจก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงและถึงตายมากกว่าสายพันธุ์เดิม ด้าน“สาธิต” เผย ยังไม่สรุปเลื่อนปลด “โควิด” จากฉุกเฉินวิกฤต อยู่ระหว่างหารือเพิ่มเติม

 

กรมการแพทย์แจงเกณฑ์ใหม่ ผู้ป่วยกักตัวที่บ้านเคลมโควิดได้

กรมการแพทย์ได้พิจารณาและร่วมมือกันหารือกับผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.ตามแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ ของสมาคมประกันชีวิตไทย มีข้อความไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ได้แก่ การกลายสภาพเป็นโรคประจำถิ่น การแยกกักตัว และแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยแยกกักตัวเข้าโรงพยาบาล

2.ตามแนวทางปฏิบัติที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่กล่าวในข้อ 1 โรคติดเขื้อโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย โดยให้แยกกักตัวผู้ป่วยยืนยัน และ Home Isolation เป็นแนวทางหลักในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อได้ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยมีกระกระทรวง ประกาศกระทรวง คำสั่งของหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

2.1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 ณ ที่พำนักของผุ้ป่วย เป็นการชั่วคราว กำหนด “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล ซึ่งรวมถึง Home Isolation ได้แก่ บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด-19

2.2 กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดให้มีและรายงาน หลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลและผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2554 กำหนดนิยม “ผู้ป่วยใน” หมายความว่า ผู้ป่วยซึ่งมารับการรักษาพยาบาลโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ให้การรักษาพยาบาลสัง่ให้รับไว้ เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบลา และได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วย

2.3 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 สั่ง ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรมืประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดโควิด-19 และได้เข้ารับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิตข้อ 4 ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือการดูแลรักษาแบบ Community Isolation แต่อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวจะมีผลกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ทำขึ้นก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2564 เท่านั้น

2.4 ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป “ผู้ป่วยใน” หมายถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป

จากกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง คำสั่ง คปภ. และ คำจำกัดความในกรมธรรม์ดังกล่าว Home Isolation จึงเป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะที่แพร่เชื้อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่น ใน “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาล โดยเป็น “ผู้ป่วยใน” ที่แพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลสั่งให้รับไว้เพื่อให้อยู่พักรักษาในสถานพยาบาล ในที่นี้คือ สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย และมีการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นไปตามความหมายของ “ผู้ป่วยใน” ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป

ทั้งนี้ คปภ. มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation และเห็นสมควรแจ้งให้ คปภ. ทราบถึงสถานการณ์ที่สมาคมประกันชีวิตไทยแถลงการณ์กับสมาชิกในการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยกับผู้เอาประกันภัยที่ทำไว้ก่อนแล้ว และเงื่อนไขที่บริษัทประกันภัยจะกำหนดในอนาคต รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัย เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานของบริษัทประกัน มิให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วย และสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

ระวัง “โควิดกลายพันธุ์” ใหม่ร้ายกว่าสายพันธุ์เดิม

 ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน สื่อมวลชนอังกฤษ ระบุว่า แม้ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนจะก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงลดลง แต่บางทีมันอาจไม่เป็นกรณีเช่นนั้นกับตัวกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาในอนาคต

เดวิด นาบาร์โร ทูตพิเศษโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "จะมีตัวกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีกต่อจากโอมิครอน และหากว่ามันแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า มันจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ยิ่งไปกว่านั้น มันอาจก่อรูปแบบอาการเจ็บป่วยที่ต่างออกไป หรืออีกคำพูดหนึ่งก็คือ มันอาจร้ายแรงกว่า หรือก่อผลกระทบในระยะยาวมากกว่า"

ส่วน ลอว์เรนซ์ ยัง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวาร์วิค ปฏิเสธข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับวิวัฒนาการในแนวตรงไล่ตั้งแต่อัลฟา เบตา เดลตา ไปจนถึงโอมิครอน "แนวคิดที่ว่าตัวกลายพันธุ์ของไวรัสจะค่อย ๆ เบาลงนั้น เป็นความคิดที่ผิด ตัวกลายพันธุ์ใหม่อาจก่อโรครุนแรงกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา"

นอกจากนี้ พวกผู้เชี่ยวชาญยังบอกด้วยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดเดาว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่จะโผล่มาจากไหน เช่นเดียวกับลักษณะเฉพาะของมัน "ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้มาจากตัวกลายพันธุ์เดลตา มันมาจากส่วนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของวงศ์ตระกูลของไวรัส" ศาสตราจารย์มาร์ค วูลเฮาส์ จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าว

"และด้วยที่เราไม่รู้ว่าวงศ์ตระกูลของตัวกลายพันธุ์ใหม่มาจากไหน เราจึงไม่รู้ว่ามันจะก่อโรคอย่างไร มันอาจก่อโรคเบากว่า แต่มันก็อาจก่อโรครุนแรงกว่า" ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าว

พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคตอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ หลังจากกลับมาบังคับใช้มาตรการเหล่านี้อีกครั้งระหว่างระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอน

"มันจะเป็นการสนับสนุนอย่างระมัดระวังให้ผู้คนยังคงต้องป้องกันตนเองและคนอื่นๆ อย่างไม่ลดละ แนวทางอื่นที่ไม่เป็นไปตามนี้จะเป็นการเสี่ยงเดิมพันกับความเป็นไปได้ที่ต้องเผชิญกับผลลัพธ์รุนแรง" นาบาร์โร กล่าว

คำเตือนของพวกผู้เชี่ยวชาญมีขึ้นหลังจากนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีโจ ไบเดน บ่งชี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า สหรัฐฯ ใกล้ถึงจุดจบของขั้นระบาดเต็มกำลังของโรคระบาดใหญ่แล้ว และข้อจำกัดสกัดไวรัสอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

"ในขณะที่เรากำลังออกจากขั้นระบาดอย่างเต็มกำลัง ซึ่งแน่นอนว่าเรากำลังมุ่งหน้าออก การตัดสินใจต่างๆ เหล่านี้จะมอบให้เป็นหน้าที่ในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แทนการตัดสินใจหรือบังคับใช้โดยส่วนกลาง" เฟาซีบอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส "ประชาชนจะได้สินใจด้วยตนเองมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวทางที่พวกเขาต้องการรับมือกับไวรัส"

 

“สาธิต” เผย ยังไม่สรุุปปลด “โควิด” ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต

 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีเสนอให้เลื่อนปลดโรคโควิด 19 จากโรคฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) จากวันที่ 1 มีนาคม เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 ว่า ได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ตนประชุมหารือกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

 

“ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศปลดโควิดจากโรคฉุกเฉินวิกฤต อยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งเดิมสถานการณ์การติดเชื้อไม่สูงมาก แต่หลังจากเทศกาลตรุษจีนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากประชาชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลมากพอ อาจเกิดปัญหาเมื่อไปรับบริการได้ จึงต้องใช้เวลาในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อประกาศยกเลิก UCEP โควิด ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ หากไปโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ๆ ตามปกติ” ดร.สาธิตกล่าว

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังต้องหารือเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทั้งปัญหาการตีความประกันภัย อัตราการครองเตียง ที่ต้องคำนึงถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง ซึ่งแม้จะไม่มีอาการแต่มีความจำเป็นต้องใช้เตียงที่มีศักยภาพ และหากมีการติดเชื้อสูงขึ้นอาจยังต้องใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงกรณีพื้นที่ กทม.ผู้ที่อยู่อาคารชุดหรือคอนโด หากนิติบุคคลไม่ให้กักตัว ก็อาจต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีฮอสปิเทล จึงควรต้องมีเป็นทางเลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสื่อสารกับประชาชนต่อไป.