โควิดทำนิวไฮทุกวัน เด็กติดเชื้อกว่า 1 แสนราย เสียชีวิตแล้ว 39 ราย WHO ยัน โอมิครอน BA.2 อาการไม่รุนแรง

by ThaiQuote, 23 กุมภาพันธ์ 2565

โควิดทำนิวไฮต่อเนื่อง วันนี้ทะลุ 21,064 ราย ผล ATK ติดเชื้ออีกกว่า 16,890 ราย เด็กปฐมวัยติดแล้วกว่า 1 แสนราย เสียชีวิตแล้ว 39 ราย ศคบ. WHO ยันแล้ว โอมิครอน BA.2 อาการไม่รุนแรง

  

โควิดทำนิวไฮ! ต่อเนื่อง ป่วยใหม่ทะลุ 2 หมื่น ดับ 39 ศพ เข้าข่ายATK พุ่ง1.6หมื่น
วันที่ 23 ก.พ.2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ว่า เบื้องต้นมีผู้ป่วยใหม่ 21,232 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 21,064 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 168 ราย ผู้ป่วยสะสม 547,358 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 16,662 ราย หายป่วยสะสม 405,964 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 173,605 ราย ส่วนผลติดเชื้อเข้าข่าย ATK 16,890 ราย, ผู้ป่วยปอดอักเสบ 882 ราย, และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 229 ราย

 

 

เด็กปฐมวัยป่วยโควิดแล้วกว่า 1 แสนราย

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การติดเชื้อในวันนี้ค่อนข้างสูง แต่ถ้าพิจารณาในตัวเลขของเด็กปฐมวัย แรกเกิดถึง 5 ขวบ ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่น ๆ เช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการติดเชื้อสูงกว่า 6,000 ราย หากดูการติดเชื้อในรอบล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนมกราคม จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อเพียงแค่สัปดาห์ละพันกว่าราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 2-3 พันราย แต่เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยสะสมในเด็กกลุ่มนี้แล้ว 107,059 ราย หรือคิดเป็น 5% ของการติดเชื้อทั้งหมด และมีการเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อของเด็กวัยปฐมวัย มาจากการติดเชื้อในครอบครัว อีกทั้งไม่มีวัคซีน

WHO ยันแล้ว โอมิครอน BA.2 อาการไม่รุนแรง แต่แพร่เชื้อง่ายกว่าเดิม

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยแล้วว่า โควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 มีความใกล้เคียงโอมิครอนดั้งเดิมหรือ BA.1 สรุปได้ว่าไม่รุนแรง แต่สามารถแพร่ได้ง่ายกว่า

เป็นข้อมูลตัวอย่างของผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศ ซึ่งได้ผลสรุปข้างต้นตรงกัน ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยลดความกังวลแก่ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น เดนมาร์ก ซึ่งสายพันธุ์ BA.2 ของตัวกลายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง

ขณะนี้ ข้อมูลเชื้อไวรัสโควิด-19 สอดคล้องกับการปรับตัวเป็น “โรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อตามฤดูกาล” คือความรุนแรงลดลงมาก พบผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 1 รายต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย และผู้ที่มีอาการรุนแรง น้อยกว่า 5 รายในผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยังคงมาตรการป้องกันตนเอง เชิญชวนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

"ผมขอให้เราเดินตามหลักวิชาการ อย่าเชื่อข่าวลวง หรือข่าวซึ่งไม่มีที่มาที่ไป การควบคุมโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ ต้องขึ้นกับความเข้าใจของประชาชนด้วย"

ศบค. ปรับลดวงเงินประกันภัยเหลือขั้นต่ำ 20,000 ดอลลาร์ หวังกระตุ้นท่องเที่ยว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ปรับลดวงเงินประกันภัยของนักท่องเที่ยว จาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกรณีที่หากนักท่องเที่ยวติดเชื้อโควิด-19 เฉพาะค่ารักษาจะตกอยู่ที่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย สอดคล้องกับวงเงินประกัน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ การปรับลดตรงส่วนนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจง่ายขึ้นในการเดินทางมาประเทศไทย

ขณะที่ข้อเท็จจริง คือ อัตราการติดเชื้อของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 1,000 คน ในประเทศไทย การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดอยู่ในประเทศ การเดินทางเข้ามาจึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ในอดีตที่ต้องมีการเรียกเงินประกันถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะการแพร่ระบาดมาจากต่างประเทศ แต่วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป การระบาดเกิดขึ้นในประเทศ ความเสี่ยงระบาดจากผู้ที่เดินทางเข้ามามีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องปรับเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นขึ้นมาบ้าง ให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้

“ตอนแรกมีการเสนอที่ 30,000 ดอลลาร์ แต่ปรับลดเหลือ 20,000 ดอลลาร์ เนื่องจากมีรายงานของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สรุปค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิด-19 ซึ่งในผู้ป่วยสีแดงมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท หากใช้วงเงิน 30,000 ดอลลาร์ จะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ จึงทำการลดเหลือ 20,000 เหรียญ ที่ยังเป็นวงเงินที่ครอบคลุมอยู่ มีผลในวันที่ 1 มี.ค.”

นอกจากนี้ เรื่องคือการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากนักเดินทาง จากที่ตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ให้ปรับเป็นใช้ ATK ตรวจด้วยตนเองแทน วิธีนี้มีความแม่นยำและเป็นที่ยอมรับในทั่วไปอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการขยายเพิ่มโรงพยาบาลสนาม ขอย้ำว่าหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มสามารถ SET UP ขึ้นมาได้เลย.