หอการค้าไทยห่วงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ เศรษฐกิจชะลอตัว ด้านม.หอการค้าไทยคาดเงินเฟ้อ 4.5-5.5%

by ThaiQuote, 9 มีนาคม 2565

หอการค้าไทยคาดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ ผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว ด้านม.หอการค้า ห่วงสงครามยูเครนยืดเยื้อเลวร้ายสุดอาจดันเงินเฟ้อทั้งปีพุ่ง 4.5-5.5%

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย กำลังติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด คาดว่ามีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้ว่าค่าเงินรูเบิลจะอ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก แต่เศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังมีความเข้มแข็งมากพอสมควร

“ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัสเซียจะยังไม่ได้ใช้กำลังทางทหารอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีโอกาสในการเจรจา แต่คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจของไทยย่อลงจากที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถตรึงราคาน้ำมันได้จนถึงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ อาจจะต้องเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า เพราะสถานการณ์มีโอกาสยืดเยื้อสูง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อไปทั้งปี” นายสนั่นกล่าว

ทางด้านมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าภายใน 6 เดือนนี้ จะเป็นการบรรเทาผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง โดยประชาชนจะมีภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลงประมาณ 1-1.5 บาทต่อหน่วย แต่ก็ควรต้องเตรียมแผนในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทำให้ประเมินได้ยากว่าประเทศไทยจะสามารถตรึงสถานการณ์ราคาเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด

 

 

นอกจากนี้ประธานกรรมการหอการค้าไทยระบุว่า กำลังติดตามต้นทุนราคาสินค้าที่จะสูงขึ้นหลังจากนี้ เช่น สินค้าประเภทธัญพืชต่าง ๆ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น อาจประสบภาวะขาดแคลน สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับต้นทุนสินค้าอาหาร นอกจากนั้น วัตถุดิบจำพวกสินแร่ต่าง ๆ (Rare Earth) อาจจะกระทบกับการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า และการผลิตชิพ และอาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าของบางสินค้ากระทบด้วย จึงขอให้ภาครัฐและภาคเอกชนเตรียมตัวรับมือในเรื่องดังกล่าวด้วย

ส่วนสินค้าอีกกลุ่มที่หอการค้าไทยกังวลอยู่ในขณะนี้ คือราคาปุ๋ยเคมีที่จะแพงขึ้น เนื่องจากไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตันต่อปี หากราคาปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็จะใส่น้อยลง ผลผลิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย อันหมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่จะหายไป ซึ่งปัญหานี้คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน ดังนั้น รัฐบาลควรเตรียมแนวทางหรือมีนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้ เช่น การหาแหล่งนำเข้าแห่งใหม่จากประเทศอื่น หรือแนวทางการนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ทดแทน ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการปรับสูตรปุ๋ยใหม่ให้เหมาะสมกับช่วงนี้ โดยหอการค้าไทยจะเร่งหารือกับภาครัฐต่อไป เพื่อเป็นทางออกให้ผู้ประกอบการ

ส่วนผลกระทบจากการนำเข้าส่งออกระหว่างไทย-รัสเซีย และไทย-ยูเครนนั้น แม้ว่ามีผลกระทบโดยตรงไม่มากนัก แต่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะผลกระทบทางอ้อมมีมาก และกระทบไปทั่วโลก ดังนั้นราคาสินค้าหลายอย่างจึงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแล้ว ซึ่งที่น่าเป็นกังวลอีกส่วนหนึ่งก็คือ ราคาค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางเรือระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรหลักในการฟื้นเศรษฐกิจไทย จึงควรให้มีแนวทางรักษาระดับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าต่อไป

นายสนั่น กล่าวว่า “หอการค้าไทยยังมีความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสเกิด stagflation หรือภาวะที่มีเงินเฟ้อสูง ในขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากเกินกว่ารายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”

นอกจากนั้น หอการค้าไทย เห็นว่าการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีของไทย ดังนั้น ประเทศไทยควรวางตัวเป็นกลางในเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศได้ตามปกติ สำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย-ยูเครนที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ประเทศไทยควรจะมีมาตรการดูแลช่วยเหลือให้เหมาะสมด้วย ซึ่งคาดว่าขณะนี้ภาครัฐกำลังหาแนวทางช่วยเหลือ

ม.หอการค้า ห่วงสงครามยูเครนยืดเยื้อเลวร้ายสุดอาจดันเงินเฟ้อทั้งปีพุ่ง 4.5-5.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งเป็น 3 กรณี จากกรณีฐานเดิมที่เคยคาดการณ์ (ณ พ.ย.64) ว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 4.2% และอัตราเงินเฟ้อที่ 3.5% ดังนี้

1.กรณีแย่ (ความขัดแย้งจบภายใน 3 เดือน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 73,400 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.5% หรือลงมาอยู่ที่ 3.7% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.0-3.5%

2.กรณีแย่กว่า (ความขัดแย้งจบภายใน 6 เดือน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 146,800 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.9% หรือลงมาอยู่ที่ 3.3% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.5-4.5%

3.กรณีแย่ที่สุด (ความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 65) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 244,700 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 1.5% หรือลงมาอยู่ที่ 2.7% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.5-5.5%

 

 

สำหรับผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ใน 4 ด้าน คือ

1. มูลค่าการส่งออกไปยังพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 70-90% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลงมาก การขนส่งสินค้ามีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงการชำระเงินค่าสินค้าอาจไม่มีความน่าเชื่อถือ

2. รายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 80-100% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลงมาก การเดินทางมีความยุ่งยาก และมีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

3. รายได้ส่งกลับจากแรงงานที่ไปทำงานในพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 60-100% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่พิพาทมีแนวโน้มจะปิดตัวลง จากผลของมาตรการคว่ำบาตร และค่าครองชีพที่สูงขึ้น

4. ต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องจัดหาทดแทนจากพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น หากธุรกิจใดเคยจัดหาวัตถุดิบจากพื้นที่พิพาทในสัดส่วนที่สูง เช่น ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และอาจจะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นหากต้องจัดหาวัตถุดิบจากพื้นที่อื่นที่อาจจะแพงกว่า หรือไกลกว่า

ส่วนผลกระทบทางอ้อม จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ใน 4 ด้าน ดังนี้

1. อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มขึ้นทะลุ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ผู้ขายปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น

2. ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดเงินโลกมีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ ที่มีต่อรัสเซีย รวมทั้งความเสี่ยงจาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนรัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้น

3. การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลง ซึ่งจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความมั่งคั่งที่ลดลงจากความผันผวนในตลาดทุนของไทย จะกดดันให้ภาคเอกชนลดการใช้จ่ายลง

4. มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปมีโอกาสชะลอตัว และเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิป ซึ่งจะกดดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 65 ลดลงได้

5. รายได้นักท่องเที่ยวจากพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในยุโรปที่มีผลกดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 65 ลดลง.