ศบค.เคาะปรับพื้นที่ลดความเข้มข้นของโควิด-19,ให้จัดงานประเพณีสงกรานต์ได้ ห้ามประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม-ดื่มสุรา

by ThaiQuote, 18 มีนาคม 2565

ศบค.ชุดใหญ่ได้มีมติปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังคงปิดสถานบริการและสถานบันเทิง ส่วนสงกรานต์รดน้ำดำหัวได้ แต่ห้ามประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม-ดื่มสุรา วางแนวทางปฏิบัติตลอดงานเทศกาล

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้มีมติปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยพื้นที่ควบคุมจาก 44 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัด เป็น 47 จังหวัด พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จาก 8 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่ยังคงปิดสถานบริการและสถานบันเทิง แต่หากปรับเป็นร้านอาหารก็สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งมีมติขยายเวลาระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นคราว ครั้งที่ 17 ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. เพื่อใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรคอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำให้ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคง ร่วมทำงานกับฝ่ายสาธารณสุขอย่างเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้สามารถผ่านเทศกาลนี้ไปด้วยความเรียบร้อย หากใครกระทำผิดให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด

 

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการรายงานแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระยะต่อสู้กัน ถ้าช่วงมีนาคมถึงต้นเมษายน ช่วยป้องกันได้อย่างดี ไปในระยะที่ 2 ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมจะเป็นช่วงคงตัว และจะค่อยๆ ลดลงตามการคาดการณ์ช่วงปลายพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน และในวันที่ 1 กรกฎาคมน่าจะเห็นตัวเลขลดลงได้

"แผนทั้งหมดนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน แต่สถานการณ์จริงในวันที่ 1 ก.ค. จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง จึงต้องมีมาตรการ 4 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์" โฆษก ศบค.ระบุ

ส่วนเป้าหมายการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องทำให้การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ มีอัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1% และความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ต้องมากกว่า 60% และต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19

สำหรับแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 นั้น กรมควบคุมโรคได้รายงานผลการฉีดวัคซีน ในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 12.7 ล้านคน ในส่วนเข็มที่ 1 และ 2 ฉีดไปแล้ว 10 กว่าล้านคน แต่เข็มที่ 3 ฉีดไปเพียง 4 ล้านกว่าคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องเร่งมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย พร้อมตั้งเป้าว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นต้องได้ 70% ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์และได้เตรียมวัคซีนรองรับไว้ 3 ล้านโดส

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบรายงานผู้เสียชีวิตตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. 65 มีจำนวน 928 รายนั้น พบว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุถึง 2.17 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเสียชีวิตถึง 557 ราย ดังนั้นจึงฝากให้คนในครอบครัวเร่งพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว มีรายงานเสียชีวิต 23 ราย ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 41 เท่า

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการ มาตรการ "เจอ แจก จบ" ระหว่างวันที่ 1-13 มีนาคม มีจำนวนผู้รับบริการสะสม 207,534 ราย มีสถานบริการทั้งหมด 901 แห่ง และมีการจ่ายรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร 24% และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 26%

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังพิจารณาให้ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน เป็นครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 พ.ค.65

จัดระเบียบงานสงกรานต์ ห้ามประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม-ดื่มสุรา

สำหรับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า สามารถจัดงานได้ แต่ให้เป็นการจัดแบบประเพณีดั้งเดิม คือ รดน้ำดำหัว ในส่วนของการจัดกิจกรรมสันทนาการต้องขออนุญาต เนื่องจากจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก ทางด้านกรมอนามัย ได้ออกข้อแนะนำดังนี้

 

 

การเตรียมตัวก่อนร่วมงาน

• ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
• ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากพบว่ามีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้พิจารณาตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง
• ขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ งดรับประทานอาหารและงดดื่มแอลกอฮอล์
• ผู้จัดงาน และกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ Thai Stop Covid 2 Plus (TSC2+) และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
• การขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกำหนด สำหรับการจัดกิจกรรมในชุมชนให้แจ้งต่อศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ผู้นำชุมชน และกำหนดให้มีมาตรการในการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด

ระหว่างช่วงงานสงกรานต์

• พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ
- อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด
- ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน
- กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
- สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างตลอดเวลาที่ร่วมงาน
• พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม กิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน
- จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ
- สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน
- เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
- ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน
- ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม

หลังกลับจากงานสงกรานต์

• สังเกตอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และผู้ที่จะไปพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อให้ทำการตรวจ ATK
• ขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ในช่วงการสังเกตอาการ
• พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

ทั้งนี้ การรดน้ำดำหัวมีการสัมผัสกันโดยตรง เน้นย้ำให้ผู้สูงอายุได้รับวัคซีน 3 เข็ม สวมหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า เนื่องจากต้องอยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานที่จะมาเยี่ยม และให้สงสัยไว้ก่อนว่าทุกคนมีเชื้อโควิด-19.