กรมควบคุมโรคชี้ใน 1 เดือนสามารถติดโควิดซ้ำได้ เชื้อโอมิครอน 2 สายพันธุ์ มีโอกาสมากกว่าเชื้อเดลต้าถึง 5 เท่า

by ThaiQuote, 28 มีนาคม 2565

อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ใน 1 เดือนสามารถติดโควิดซ้ำได้ เป็นการติดซ้ำของสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 โดยมีโอกาสติดซ้ำมากกว่าเชื้อเดลต้าถึง 5 เท่า ส่วนเพจ “ชมรมแพทย์ชนบท”โพสต์ ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ขาดแคลน

 

หมอชี้ติดโอมิครอนซ้ำ BA.1 กับ BA.2 มีโอกาสเกิดได้

จากข่าวที่ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กแจ้งติดโควิด-19 รอบ 2 ในช่วง 1 เดือน และแพทย์ระบุว่าเป็นการติดซ้ำของสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 เดือน ว่า การติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่างสายพันธุ์กันสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เช่น คนที่หายจากโควิดสายพันธุ์เดลต้า ก็สามารถติดสายพันธุ์โอมิครอนซ้ำได้ ส่วนกรณีสายพันธุ์โอมิครอนเหมือนกัน แต่เป็นสายพันธุ์ย่อย เช่น BA.1 กับ BA.2 ยังเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดข้อเท็จจริงอีกครั้ง

นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามหลักแล้ว ก็มีโอกาส แต่จะ 1 ในแสนราย หรือ 1 ในล้านราย ต้องดูข้อมูลประกอบ รวมถึงดูระยะเวลาด้วย เนื่องจากเมื่อติดเชื้อแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่ติดซ้ำในระยะเวลาสั้น ๆ ยกเว้นคนที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ขณะนี้ข้อมูลผู้ติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ระยะสั้น ๆ ยังมีน้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลไม่มากพอที่จะบอกได้ว่า มีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ต้องดูจากประวัติของผู้ติดเชื้อ เพื่อเก็บข้อมูลต่อไป

นพ.โอภาสบอกว่า “เชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่อยู่ในทางเดินหายใจส่วนต้น เชื้อก็จะออกมาจากการ ไอ จาม พูด มากกว่าเชื้อเดลต้าที่ลงปอดได้เยอะกว่า จึงเป็นที่มาว่า เชื้อโอมิครอนแพร่ได้เร็ว และระยะฟักตัวสั้น รวมถึงหลายคนไม่มีอาการ ก็จะแพร่เชื้อได้เร็ว แต่ส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนฉีดวัคซีนแล้ว อาการก็จะเพียงระคายคอ ไม่มีไข้ แต่สำหรับคนสูงอายุก็จะรุนแรงกว่า โดยเฉพาะคนไม่ฉีดวัคซีน เราจึงเชิญชวนกลุ่ม 608 ไปรับวัคซีน”

อธิบดีกรมควบคุมโรคแนะนำว่า สำหรับคนที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ขอให้ยังระมัดระวังตนเองเสมอ สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ความเสี่ยงคือ การพบปะกับคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร ทั้งนี้ นโยบาย Self-clean up ด้วยการงดไปสถานที่เสี่ยงก่อนเดินทางกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ รวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) โดยเฉพาะคนสูงอายุ

สำหรับเกณฑ์การแบ่งค่า CT จากการตรวจ RT-PCR ว่าค่ามากหรือน้อย บ่งบอกอะไรได้บ้าง นพ.โอภาสกล่าวว่า ค่า CT จะขึ้นอยู่กับแล็บที่ตรวจเชื้อ RT-PCR ส่วนจะบอกว่าเป็นเชื้อที่มีชีวิต หรือซากเชื้อ จะต้องดูเรื่องอาการและข้อมูลผู้ป่วยประกอบด้วย แต่หากค่า CT สูง ๆ เช่น 35 ขึ้นไป แปลว่ามีเชื้อน้อย แต่ต้องดูอาการและประวัติ ฉะนั้นการวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ได้ดูเพียงผลแล็บอย่างเดียว เช่น คนมีประวัติติดเชื้อแล้วอีก 2 เดือน ติดซ้ำอีก เราต้องดูประวัติ ค่า CT ว่าสูงหรือต่ำ หากค่าสูงมากร่วมกับไม่มีอาการอะไร ก็แปลความได้ว่าเป็นซากเชื้อ ทั้งนี้ การแปลความตรงนี้ต้องมีความระวัง

 

 

“ชมรมแพทย์ชนบท” โพสต์ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ขาดหนัก
วันนี้ (28 มี.ค. 65) เพจของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ได้โพสต์แจ้งว่า ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ขาดหนัก โดยในเนื้อหาระบุว่า

“ ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร”

“ทำไมหมอไม่ให้ยาฟาวิ ยายผม 60 ปีแล้ว มีเบาหวานด้วย”
“ช่วงนี้ยาฟาวิมีน้อยมาก หมอขอสงวนไว้สำหรับคนที่หนักจริง ๆ นะ”
“โรงพยาบาลห่วย ๆ ยาฟาวิก็ยังไม่มี”
“มันไม่มียาจริง ๆ กินฟ้าทะลายโจรไปก่อน ได้ผลเหมือนกัน หากไม่ดีขึ้นมาโรงพยาบาลได้ตลอด”
“ถ้ายายผมพี่ผมเป็นอะไรไป หมอต้องรับผิดชอบ”

นี่คือสถานการณ์จริงหน้างาน สืบเนื่องจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติกับฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดแคลนหนัก

สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศ ยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดัง ๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 และผู้ใหญ่ผู้โตพูดออกสื่อว่า “ไม่จริง ยามีเพียงพอ” แต่ความจริงถ้าลองถามโรงพยาบาลต่าง ๆ ดู จะพบมาช่วงเดือนสองเดือนนี้ ฟาวิมีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ 60 ปี ขึ้นไปก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น

ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ลดการแบ่งตัวของไวรัส งานวิจัยของศิริราชชัดเจนว่า การทานฟาวิเร็วภายใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วย จะช่วยให้โอกาสที่อาการจะหนักลดลง ดังนั้นยาฟาวิหากจะให้ได้ผลดี ต้องทานให้เร็ว การมียาเพียงพอจึงจำเป็น

ฟาวิพอไม่พอ ขอให้ สธ.แถลงแบบลงรายละเอียดว่า เหตุที่ฟาวิจึงขาดหนัก การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือ องค์การเภสัชผลิตปั๊มเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด คงที่ไหม ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไหร่ ข่าวที่ว่าองค์การเภสัชจะเลิกผลิตโดยจะนำเข้าอย่างเดียวจริงไหม ทำไม ขณะนี้นำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไหร่ รวม ๆ แล้วแต่ละสัปดาห์จะมีฟาวิให้กระจายได้กี่เม็ด จะกระจายอย่างไร เป็นต้น

การขาดแคลนฟาวิพินาเวียร์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ออกมาบอกความจริงกับสังคมและโรงพยาบาลต่าง ๆ และร่วมวางแผนกันให้เปิดเผย สิ่งที่ทุกโรงพยาบาลอยากรู้คือ จะได้รับจัดสรรครั้งละประมาณกี่เม็ดและหลังรับจัดสรรแล้วอีกกี่วันจึงจะได้มาอีก จะได้บริหารยาให้เหมาะสมกับจำนวนยาที่มี

ความยากของแพทย์และบุคลากรสุขภาพในปัจจุบันคือ ไม่รู้เลยว่ายาฟาวิที่เหลืออยู่ในมือสมมุติว่า มีเหลือ 2,000 เม็ด ซึ่งใช้ได้ 40 คน อีกกี่วันจึงจะได้มาเติม จะได้บริหารยาให้ดีที่สุดในท่ามกลางความขาดแคลน

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้นแม้จะนำเข้ามาแล้ว แต่มีจำนวนน้อย ราคาแพงกว่าฟาวิมาก การจะขอใช้ยายุ่งยาก จึงไม่อาจนำมาทดแทนฟาวิได้

การยอมรับความจริงและร่วมวางแผนรับสถานการณ์ที่ขาดแคลนอย่างเปิดอกของ สธ. น่าจะดีกว่าการปล่อยให้อึมครึมปล่อยให้พื้นที่ไถ ๆ เอาตามมีตามเกิดแบบนี้นะครับ ไถมาร่วมเดือน ชักจะไถไม่ไหวแล้ว คนไข้ไม่เข้าใจ ก็ทะเลาะกับแพทย์พยาบาลทุกวัน

รอบนี้อย่าบอกนะว่า “ยาฟาวิมีเพียงพอ” ปัญหามีไว้แก้ ขอแค่บอกความจริงกับสังคม แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน”

ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ กรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุยาฟาวิพิราเวียร์ในต่างจังหวัดขาดแคลนว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสารตั้งต้นในการผลิตได้เองในประเทศ พร้อมกับมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย ซึ่ง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.รายงานว่า สามารถบริหารจัดการเรื่องยาได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน อภ. ก็ได้จัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากแหล่งผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย รวมถึงกรมการแพทย์ก็ได้จัดหายาอื่น ๆ ทั้งยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด ยืนยันว่ามีการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ทั่วถึง เราไม่มีทางเก็บยาไว้ในสต๊อกโดยที่ยังมีความต้องการใช้ โดยตรรกะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนกลางจะส่งยาไปที่จังหวัด การบริหารจัดการจะอยู่ในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเรื่องของการประสานงานระดับพื้นที่.