ไม่แพ้ใครในโลก! วว.วิจัย“โพรเฮิร์บ” ผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัล ควบคุมภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในผู้สูงวัย

by ThaiQuote, 31 มีนาคม 2565

วว. วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัล “โพรเฮิร์บ” ควบคุมภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในผู้สูงวัย ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมแปรรูปของประเทศ โดยมีเชียงดาและส้มแขกเป็นสมุนไพรตั้งต้น

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีประเทศด้านอุตสาหกรรมแปรรูป ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัล (Functional food products) ชนิดใหม่ในรูปของผงชาฟรีซดรายสำหรับชงน้ำเย็นดื่มและผลิตภัณฑ์ชนิดผงพร้อมบริโภค ภายใต้ชื่อ “โพรเฮิร์บ (ProHerb)” ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์คือ สารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่จากธรรมชาติ 2 ชนิด ได้แก่ จุลินทรีย์โพรไบโอติก (probiotic) และสารสกัดพืชสมุนไพร (herbal extract) มีประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) โดยเฉพาะควบคุมภาวะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงจากภาวะไขมันในเลือด ซึ่งทั้งสองโรคมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน

ปัจจุบันอัตราการเป็นโรคเบาหวานของคนไทยและโดยเฉพาะผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ระบุว่า มีประชากรไทยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 5.5 ล้านคน โดยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนต่อปี และเสียชีวิต 200 รายต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงราว 30 ล้านคน

 

 

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบบูรณาการหลากหลายสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญสู่การพัฒนาเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสามารถต่อยอดงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของประเทศให้ยั่งยืน ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากนโยบายดังกล่าว เป็นผลงานบูรณาการวิจัย โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ภายใต้ โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อควบคุมภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูงจากไขมันในกลุ่มประชากรเข้าสู่ระยะสูงวัย ประสบผลสำเร็จพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ Functional Food “โพรเฮิร์บ (ProHerb)”

โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ จุลินทรีย์โพรไบโอติก (Bifidobacterium animalis subsp. lactis TISTR 2591) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นที่ศึกษาวิจัยและจำแนกสายพันธุ์โดย วว. และพืชสมุนไพรสองชนิด คือ เชียงดา (Gymnema innodorum) ที่เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีพายัพ ที่มีสรรพคุณโดดเด่นในการลดน้ำตาลในเลือด และส้มแขก (Garcinia atroviridis) ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวสำหรับใช้ปรุงรสอาหาร และเป็นพืชอัตลักษณ์ทางภาคใต้ ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะช่วยควบคุมภาวะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ในประชากรที่เข้าสู่ระยะสูงวัย หรือผู้ที่มีช่วงอายุ 50-60 ปี

 

  

ผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัล “โพรเฮิร์บ” มีจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ โพรเฮิร์บ-จี (ProHerb-G) อยู่ในรูปของชาผงสำหรับชงดื่มในน้ำเย็น และโพรเฮิร์บ-แอล (ProHerb-L) อยู่ในรูปผงพร้อมบริโภค กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ทั้งสองคณะวิจัยได้กำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อคงสภาพและการมีชีวิตอยู่ของจุลินทรีย์โพรไบโอติก และรักษาฤทธิ์ชีวภาพของสมุนไพรเชียงดาและส้มแขกในแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสูตรและกระบวนการผลิตทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ไว้แล้ว

นอกจากนี้ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ยังผ่านการตรวจวิเคราะห์ปริมาณจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ยังมีชีวิตพบว่า ตลอดการเก็บผลิตภัณฑ์นาน 24 เดือน ( 2 ปี ) มีปริมาณของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีชีวิตรอดในผลิตภัณฑ์อยู่จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านเซลล์ (109 CFU) ต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์ 1 กรัม ซึ่งสูง 1,000 เท่าของเกณฑ์มาตรฐานซึ่งกำหนดไว้ที่หนึ่งล้านเซลล์ (106 CFU ต่อน้ำหนัก 1 กรัม) ของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

ผลิตภัณฑ์โพรเฮิร์บ-จี และ โพรเฮิร์บ-แอล ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลโภชนาการ และพร้อมสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอาหารฟังก์ชันนัลเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์

“…ผลิตภัณฑ์โพรเฮิร์บมีองค์ประกอบสำคัญ คือ จุลินทรีย์โพรไบโอติก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นที่ค้นพบโดยทีมนักวิจัยของ วว. และพืชสมุนไพรสองชนิด คือ เชียงดา และส้มแขก โดยมีผลการวิจัยรองรับในการพิสูจน์สรรพคุณต่อสุขภาพคือ การลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ชัดเจน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังผ่านการตรวจวิเคราะห์ปริมาณจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ยังมีชีวิตอยู่ในผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์และข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จึงพร้อมสำหรับการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ Functional Food มีมูลค่าในตลาดโลก 1.8 แสนล้านดอลล่าร์ สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 68,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี พ.ศ. 2565 จะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ยิ่งไปกว่านั้นการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกและสมุนไพรเป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์กำลังอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคอย่างมาก…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการวิจัยว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติก B. animalis subsp. lactis TISTR 2591 ซึ่งนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรเฮิร์บ ที่นำมาศึกษาในสัตว์ทดลองและได้รับการกระตุ้นให้เกิดเบาหวานชนิด Type-2 diabetes มีคุณสมบัติในการกระตุ้นและเพิ่มปริมาณฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในสภาวะสมดุล และยังลดระดับไขมันในเลือดโดยเฉพาะชนิดไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุม

สำหรับสารสกัดใบเชียงดาพบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลและไขมันได้ทั้งในระดับเซลล์ (in vitro) และสัตว์ทดลอง (in vivo) นอกจากนี้ วว. ยังทำการวิจัยร่วมกับสถาบัน Cellula r and Molecular Biotechnology Research Institute ของ The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ป่น โดยได้ตรวจพบสาร Stephanoside B และ Stephanoside C ในสมุนไพรเชียงดาของไทย พร้อมการพิสูจน์สรรพคุณในการยับยั้งการสะสมไขมันในเซลล์ของสารทั้ง 2 ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน

และสำหรับผลการศึกษาสารสกัดผลส้มแขก ที่มีกรดไฮดรอกซีซิตริก (hydroxycitric acid, HCA) เป็นสารแสดงฤทธิ์ เมื่อทดสอบในเซลล์พบว่า สามารถยับยั้งพัฒนาการและการเพิ่มจำนวนของเซลล์ไขมัน (adipocytes) จึงช่วยลดการสะสมไขมันได้ ซึ่งกลไกการเกิดเซลล์ไขมันดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนอินซูลิน เป็นการบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีไขมันในเลือดสูงนำมาก่อน

อนึ่ง ประเทศไทยมีการจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Road Map : TRM) ด้านอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยแบ่งอาหารออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Organic food, Functional food, Medical food และ Novel food โดยอาหารกลุ่ม Functional Food ซึ่งเป็นอาหารที่มีสารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจึงช่วยป้องกันโรคและรักษาโรคได้ กำลังได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้งการที่ผู้บริโภคเพิ่มความตระหนักถึงสุขภาพตนเองและนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงความสามารถของผู้ขายที่จะสร้างจุดขายใหม่ในผลิตภัณฑ์ของตน ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (Functional food) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยตลาดอาหารประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป และแม้แต่ในเอเชียก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนัล “โพรเฮิร์บ (ProHerb)” จากโพรไบโอติกประจำถิ่น (ได้จากประชากรไทย) และสมุนไพรทั้งผักเชียงดาและส้มแขกซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านและพืชอัตลักษณ์ของประเทศ จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่เกิดจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านชีวภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรเฮิร์บ ติดต่อ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : [email protected] Line@tistr IG : tistr_ig.