นายกฯ เตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 8 เม.ย. นี้ ประเมินสถานการณ์โควิด-19 รองรับเทศกาลสงกรานต์

by ThaiQuote, 7 เมษายน 2565

นายกฯ เตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 8 เม.ย. นี้ ประเมินสถานการณ์โควิด-19 พร้อมรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งการเดินทางไป-กลับ และการจัดกิจกรรมตามมาตรการ อภ.เตรียมนำเข้า “ยาโมลนูพิราเวียร์” 20 ล้านเม็ด

 

วันที่ 7 เมษายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำทุกคนเข้มงวดมาตรการช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แนะลูกหลานที่จะเดินทางกลับบ้าน ทำตัวเองให้ปลอดจากเชื้อโควิด 19 (Self Clean Up) โดยระมัดระวังตนเองช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนเดินทางตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (แบบครอบจักรวาล) พร้อมตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านเพื่อคัดกรองตนเองให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ลดความเสี่ยงนำเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้สูงอายุเพิ่มความปลอดภัยให้คนที่บ้าน ย้ำการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลายังเป็นสิ่งจำเป็น และขอความร่วมมือระมัดระวังการรวมกลุ่มเฉลิมฉลอง พร้อมกำชับทุกหน่วยงานเตรียมมาตรการรับมือให้ดีที่สุด

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า จะมีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (8 เมษายน 2565) โดยคาดว่าจะมีวาระสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับและสนับสนุนการเดินทางของพี่น้องประชาชนทั้งไป-กลับภูมิลำเนา รายละเอียดการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งการหารือเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในทุกด้าน ตามมาตรการกลางที่ศบค. กำหนด ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดจะสามารถรับมือได้ แม้จะมีการคาดการณ์ช่วงหลังสงกรานต์อาจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สปสช. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี/ผอ. ศบค. จัดเตรียมสายด่วน สปสช. 1330 เพิ่มคู่สายรองรับเป็น 3,000 คู่สายแล้ว โดยโทร 1330 กด 18 ซึ่งเป็นระบบลงทะเบียนที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะกลุ่ม 608, เด็ก 0-5 ขวบ, คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation-HI ให้ก่อน พร้อมอำนวยความสะดวกประสานการหาเตียงเพื่อเข้ารักษาใน รพ. ส่วนกลุ่มสีเหลือง-แดงเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาใน รพ.รัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อภ.เตรียมนำเข้า “ยาโมลนูพิราเวียร์” รักษาโควิดโดยเฉพาะ 20 ล้านเม็ด เร่งผลิตเองในประเทศ

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ภายใน เม.ย.นี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะนั้น จะทยอยส่งมาถึงประเทศไทย 20 ล้านเม็ด โดยล็อตแรกคาดว่าน่าจะเข้ามาราว ๆ 6 ล้านเม็ดเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ อภ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาชีวสมมูลของยาดังกล่าว เพื่อดำเนินการผลิตในประเทศเอง คาดว่าน่าจะได้ทะเบียนภายในปีนี้

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า “ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาสำหรับรักษาโรคโควิดโดยเฉพาะ ราคานำเข้าปัจจุบันพอ ๆ กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยโควิดอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคดังกล่าวอยู่ สัดส่วนก็ต้องดูตามสถานการณ์ไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเราผลิตได้เองก็จะทำให้มีราคาถูกลง”

กทม. ปรับระบบคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 นำกลุ่ม 608 เข้ารักษาในรพ.ทันที

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติในการจัดระบบคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็กของสถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการประสานส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

สำนักอนามัย มีระบบในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นกลุ่ม 608 โดยใช้แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล หากพบว่าผู้ติดเชื้อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปี 2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ 3.โรคไตเรื้อรัง 4.โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมโรคหัวใจแต่กำเนิด 5.โรคหลอดเลือดสมอง 6.เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 7.ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) 8.ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ 9.หญิงตั้งครรภ์ หรือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1330 กด 18 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข

หากพบว่าผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ศูนย์บริการสาธารณสุข จะรับดูแลและส่งคำร้องขอเตียงไปยังศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร เพื่อรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม / โรงพยาบาล / Hospitel โดยระหว่างที่รอการส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบ Home Isolation จากศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับยารักษาโดยเร็วที่สุดจนกว่าจะได้รับการจัดสรรเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มสีเหลืองที่สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus และสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง

นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ UCEP Plus และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มาขอรับบริการ ณ ARI clinic และทางออนไลน์ และดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีระบบการคัดแยกผู้ป่วย และระบบดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการระดับต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ UCEP Plus และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยจะเน้นระบบการคัดกรองและระบบการส่งต่อกลุ่มเสี่ยง 608 และกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพื่อประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

 

 

ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 26,081 ATK 24,728 ตาย 91 ราย


ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26,081 ราย ประกอบด้วย

ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 25,675 ราย
จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 246 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 79 ราย
ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 81 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 24,728 ราย

เสียชีวิต 91 ราย เป็นเพศชาย 56 ราย เพศหญิง 35 ราย โดยเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด อายุเฉลี่ย 75 ปี (อายุระหว่าง 23-102 ปี) แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 73 ราย คิดเป็น 80% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 17 ราย คิดเป็น 19% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย คิดเป็น 1%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 3,807,908 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 26,011 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 25,788 ราย

จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,926 ราย, ชลบุรี 1,542 ราย, นครศรีธรรมราช 1,059 ราย, ขอนแก่น 936 ราย, สมุทรปราการ 879 ราย, สมุทรสาคร 753 ราย, ราชบุรี 650 ราย, นนทบุรี 611 ราย, ร้อยเอ็ด 599 ราย และ สงขลา 582 ราย.