ครีมกันแดดที่ปกป้องผิวของเรา กลับไปทำร้ายปะการังในท้องทะเล

by ThaiQuote, 5 พฤษภาคม 2565

ครีมกันแดดกับการเที่ยวทะเลเป็นของคู่กัน เพราะคงไม่มีใครอยากได้รอยเบิร์นแดดหรือสีผิวด่างดำกลับมาเป็นของฝากจากการท่องเที่ยว แล้วครีมกันแดดมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลหรือไม่

 

รู้ไหมว่า... ครีมกันแดดที่ปกป้องผิวของเรา กลับไปทำร้ายปะการังในท้องทะเล เพราะเวลาเราลงไปเล่นน้ำทะเลหรือกระทั่งดำน้ำไปดูปะการังและโลกใต้น้ำใกล้ ๆ น้ำทะเลจะชะล้างครีมกันแดด บางส่วนจากผิวของเรา ทำให้ครีมกันแดดปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล

ประเด็นอยู่ตรงที่ครีมกันแดดที่ขายทั่วไปในท้องตลาดนั้นมีสารเคมีจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อปะการังโดยที่ร้ายแรงที่สุดคือสารเคมีสำหรับป้องกันรังสียูวีที่ชื่อว่า Oxybenzone (Benzophenone-3) ซึ่งมีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ก่อให้เกิดการฟอกขาวในปะการัง รวมทั้งเปลี่ยนแปลง DNA และรบกวนระบบสืบพันธุ์ของปะการัง

ที่สำคัญ ปริมาณครีมกันแดดที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลก็ไม่ใช่น้อย ๆ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Archives of Environmental Contamination and Toxicology ระบุว่า ทุกปีครีมกันแดดปริมาณ 14,000 ตัน จะปนเปื้อนน้ำทะเลทั่วโลก ทั้งโดยการถูกชะล้างโดยตรงยามคนเราลงเล่นน้ำในทะเล และโดยการ เล็ดรอดผ่านน้ำเสียที่ไหลลงทะเล

ยิ่งกว่านั้น ความจริงที่น่าตกใจก็คือครีมกันแดดเพียงหยดเดียวก็แรงมากพอ ที่จะทำลาย ปะการังได้แล้วตอนนี้หลายพื้นที่ในโลกเริ่มตื่นตัวและออกคำสั่งแบนครีมกันแดด ที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และสารเคมี อื่น ๆ อีกกว่าสิบชนิดที่มีฤทธิ์ฆ่าปะการัง เช่น ฮาวาย และปาเลา แต่ใช่ว่าเราจะต้องรอให้บ้านเรามีกฎหมาย แบนครีมกันแดดแบบที่อื่นเราสามารถลงมือช่วยปะการัง ได้เลย ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการเลือกใช้ครีม กันแดด ที่ทำจากส่วนผสมที่ปลอดภัยต่อปะการัง เช่น zinc oxide และ titanium dioxide หรือดูง่าย ๆ ว่าข้างหลอดมีคำว่า reef safe (ปลอดภัยต่อปะการัง) หรือเปล่า “รักผิวตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมรักปะการัง รักธรรมชาติบนโลกของเราด้วยนะ

 

 

ประเทศไทยมีแนวปะการังคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 96,357 ไร่ ( 154.17 ตร.กม.) โดยแบ่งเป็นทางฝั่งทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาตอนบนประมาณ 50,812 ไร่ ( 81.3 ตร.กม.) และในฝั่งอ่าวไทยมีพื้นที่แนวปะการังทั้งหมดประมาณ 45,545 ไร่ ( 72.9 ตร.กม.) โดยฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกพบแนวปะการังกระจายอยู่ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตกและภาคใต้ฝั่งตะวันออก พบแนวปะการังในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี

ตามธรรมชาติแล้ว แนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเจริญเติบโตของปะการังแล้วมีส่วนหนึ่งสลายไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะที่สมดุลและเกิดการสะสมหินปูนของแนวปะการังขึ้นเรื่อย ๆ

แนวปะการังอาจได้รับความเสียหายจากสาเหตุหลายประการ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น การเกิดฟอกขาวของปะการังเนื่องจากอุณภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงผิดปกติเป็นเวลานาน ประกอบกับความเข้มแสงที่มีมากในช่วงฤดูร้อน พายุพัดทำลาย การระบาดของดาวมงกฎหนาม และความเสียหายที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ การชะล้างตะกอนจากการเปิดหน้าดินลงสู่ทะเล การขุดแร่ในทะเล การประมงผิดกฎหมาย และการท่องเที่ยวที่ไร้ความรับผิดชอบ

ปัจจุบันการท่องเที่ยวในแนวปะการังกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแบบไร้ความรู้และจิตสำนึกมีส่วนสำคัญที่ส่วนสำคัญทำให้แนวปะการังเกิดความเสียหายได้ เช่น การใช้อุปกรณ์ดำน้ำดูปะการังไม่ถูกวิธี ทำให้ต้องยืนบนปะการังเพื่อพยุงตัว การให้อาหารปลาในแนวปะการังมีส่วนทำให้ปลาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากินอาหารจากมนุษย์แทนที่จะไปกินสาหร่ายในธรรมชาติ สารอาหารที่ลงสู่ทะเลยังมีส่วนที่ทำให้สาหร่ายเพิ่มจำนวนขึ้นและแก่งแย้งพื้นที่กับปะการังในที่สุด

แนวปะการังในแต่ละพื้นที่อาจได้รับความเสียหายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของปัจจัยที่มากระทบ รวมทั้งองค์ประกอบ ชนิด และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย แนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางแห่งเปลี่ยนเปลงไปในทางที่เสื่อมลง ในขณะที่บางแห่งมีการฟื้นตัวเกิดขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากการจัดการปะการังในพื้นที่ได้ผลหรืออาจมีการฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ บางแห่งอาจฟื้นตัวได้ช้ามากเนื่องจากมีปัจจัยที่คอยยับยั้งการฟื้นตัวของปะการัง.